ข้อโต้แย้งของฝ่ายที่คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในภาคครัวเรือนและขนส่งที่ใช้อ้างมาตลอดก็คือภาคปิโตรเคมีมาแย่งก๊าซประชาชนใช้ ทำให้ประชาชนต้องไปใช้ก๊าซนำเข้าจากตลาดโลกที่มีราคาแพง ถ้าให้ภาคปิโตรเคมีเปลี่ยนไปใช้ก๊าซนำเข้าแทนประชาชนก็จะได้ใช้ก๊าซถูก ๆ จากโรงแยกก๊าซ โดยไม่ต้องขึ้นราคา คำกล่าวหรือข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ฟังดูดีน่าเชื่อถือและสามารถชักจูงใจให้ประชาชนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของข้อมูลด้านพลังงานเห็นคล้อยตามได้เป็นจำนวนมากแต่ผมจะบอกให้ว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง! วันนี้เราไม่ต้องไปพูดถึงภาคปิโตรเคมีมาแย่งก๊าซประชาชนใช้ก็ได้ไม่ต้องไปพูดถึงราคาก๊าซนำเข้าที่สูงถึง 800-900 $/ตัน ก็ได้ เรามาพูดกันแค่ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เอามาใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงแยกก๊าซแล้วผลิตออกมาเป็นก๊าซแอลพีจีให้เราได้ใช้กันทุกวันนี้ก็พอ เมื่อปีพ.ศ.  2547 ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (ราคา ณ ปากหลุม) อยู่ที่ 236 $/ตัน ตอนนั้นรัฐบาลตั้งราคาขายแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซที่ 333 $/ตัน เวลาผ่านไปสิบปี ปีนี้ พ.ศ. 2557 ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (ราคา ณ ปากหลุม) ขึ้นมาอยู่ที่ 360 $/ตัน (ตามสูตรราคาซื้อขายที่อิงราคาน้ำมันเตาและอัตราเงินเฟ้อ)แต่ราคาแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซยังอยู่ที่ 333 $/ตันเหมือนเดิม ดูตัวเลขแค่นี้เด็กป.สี่ก็วิเคราะห์ได้ว่า โรงแยกก๊าซขาดทุนแน่นอนเพราะต้นทุนวัตถุดิบสูงกว่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผลิตได้ นอกจากนั้น ต้นทุนวัตถุดิบ (ก๊าซธรรม ชาติ) ที่ว่า ยังไม่รวมค่าผ่านท่อจากปากหลุมมาถึงโรงแยกก๊าซและยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตของโรงแยกก๊าซอีกด้วย ซึ่งถ้ารวมทั้งหมดแล้วต้นทุนที่แท้จริงของโรงแยกก๊าซจะอยู่ที่ 555 $/ตัน (ตามผลการศึกษาของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย-PTIT) ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าในเมื่อต้นทุนโรงแยกก๊าซสูงแต่ต้องมาขายในราคาต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดนับเป็นสิบปีอย่างนี้รัฐบาลได้นำเงินมาอุดหนุนโรงแยกก๊าซให้อยู่ได้บ้างหรือไม่ถ้าไม่ได้อุดหนุนโรงแยกก๊าซอยู่ได้อย่างไร คำตอบก็คือโรงแยกก๊าซไม่ได้รับเงินอุดหนุนใด ๆ จากรัฐบาลเลย แต่โรงแยกก๊าซอยู่ได้จากการขายก๊าซในราคาที่สูงกว่า (590 $/ตัน) ให้กับภาคปิโตรเคมี เมื่อนำมาเฉลี่ยกับภาคครัวเรือนก็แค่ทำให้พออยู่ได้เท่านั้น ดังนั้นถ้าปฏิบัติตามข้อเสนอของฝ่ายที่คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีโดยการให้ภาคปิโตรเคมีไปใช้ก๊าซนำเข้าแล้วให้ประชาชนมาใช้ก๊าซจากโรงแยกก๊าซทั้งหมด โรงแยกก๊าซก็จะอยู่ไม่ได้รัฐบาลก็ต้องปรับราคาแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซขึ้นไปจาก 333 $/ตันเป็น อย่างน้อย 555 $/ตัน อยู่ดี ซึ่งจะมีผลให้ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีขึ้นไปอีกก.ก.ละ 7 บาท ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะทุกวันนี้รัฐบาลไปตรึงราคาขายหน้าโรงแยกก๊าซให้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงนั่นเองไม่ได้มีอะไรไปเกี่ยว ข้องกับเรื่องการแย่งใช้ก๊าซของภาคปิโตรเคมีหรือราคาก๊าซในตลาดโลกอย่างที่มีผู้พยายามบิดเบือนให้ประชาชนเข้าใจผิดกันแต่อย่างใด ผมจึงไม่เข้าใจว่าจะพยายามยื้อการขึ้นราคาแอลพีจีกันไปถึงไหนทั้ง ๆ ที่เห็นกันอยู่ว่า ทุกวันนี้ก็ขายต่ำกว่าต้นทุนกันอยู่แล้ว!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จะยื้อการขึ้นราคาแอลพีจี ไปถึงไหน? – พลังงานรอบทิศ

Posts related