เชื่อว่าตอนนี้คุณผู้อ่านหลายคนที่เป็นแฟนของผลิตภัณฑ์ค่ายแอปเปิ้ลคงกำลังตั้งหน้าตั้งตารอไอโฟน 6 ที่มีกำหนดจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้อยู่เลยใช่ไหมครับ ในระหว่างที่รอลุ้นกันอยู่ว่าไอโฟน 6 ของค่ายแอปเปิลจะมีลูกเล่นอะไรใหม่มาเซอร์ไพรส์พวกเราได้หรือไม่ วันนี้ผมจะมาพาคุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมมารู้จักกับสมาร์ทโฟนจากค่ายอเมซอน ( Amazon) ชื่อ ไฟร์โฟน ( Fire Phone) ที่เพิ่งถูกเปิดตัวไปเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมานี้กันครับ ชื่อของค่ายอเมซอนนี้ คงเป็นที่คุ้นหูกันดีสำหรับคุณผู้อ่านที่รักการซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์ช้อปปิ้ง เพราะอเมซอนถือเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) มาช้านาน แต่สำหรับวงการสมาร์ทโฟนนี้ ไฟร์โฟนถือว่าเป็นตัวแรกของค่ายอเมซอนเลยครับ ก็ในเมื่อบริษัทอื่น ๆ มีสมาร์ทโฟนได้ ทำไมอเมซอนถึงจะมีกับเขาบ้างไม่ได้จริงไหมครับ ไฟร์โฟนของค่ายอเมซอนนี้จะว่าไปแล้วทั้งรูปร่างหน้าตาและความสามารถพื้นฐานก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสมาร์ทโฟนตัวอื่นที่วางขายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน แต่แน่นอนครับว่าถ้าไม่มีหมัดเด็ดอะไรเลย ทางอเมซอนคงไม่ตัดสินใจกระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนที่ร้อนแรงแห่งนี้ ซึ่งหมัดเด็ดที่ว่า คือ เทคโนโลยีที่เรียกว่าไฟร์ฟลาย (FireFly) ครับ คำว่า ไฟร์ฟลาย นั้นแปลว่า หิ่งห้อย ในภาษาไทย ส่วนเทคโนโลยีไฟร์ฟลายในที่นี้ หมายถึง โหมดการทำงานหนึ่งของกล้อง ที่พอเราเอากล้องในโทรศัพท์ไฟร์โฟนส่องไปที่รูปของสินค้าอะไร แล้วกดปุ่มไฟร์ฟลายซึ่งเป็นปุ่มเล็ก ๆ ติดอยู่ด้านข้างของตัวเครื่องโทรศัพท์แล้วล่ะก็ ไฟร์โฟนจะทำการสแกนหาข้อมูลสินค้าเหล่านั้นให้เราทันที ซึ่งการสแกนนี้ไม่จำกัดว่าสแกนได้เฉพาะบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ด (QR code) สีขาวดำอย่างที่พวกเราใช้ ๆ กันอยู่ในปัจจุบันนะครับ แต่เทคโนโลยีไฟร์ฟลายสามารถใช้สแกนรูปภาพอะไรก็ได้ ตั้งแต่ภาพนางแบบบนหน้าปกนิตยสารที่วางขายที่แผงหนังสือ นามบัตร หรือ รูปถ่ายฉลากสินค้า โดยไฟร์ฟลายจะทำการวิเคราะห์ แยกแยะรูปภาพ พร้อมทั้งข้อความต่าง ๆ บนวัตถุที่สแกนนั้นแล้วทำการแสดงผลบนหน้าจอว่ามันเจอข้อมูลอะไรเกี่ยวกับวัตถุชิ้นนี้บนอินเทอร์เน็ตบ้าง สำหรับผู้ที่รักการช้อปปิ้งเป็นชีวิตจิตใจ เทคโนโลยีไฟร์ฟลายนี้สามารถค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลของอเมซอนแล้วบอกให้เรารู้ได้ด้วยนะครับว่าวัตถุชิ้นที่เราสแกนไปนั้น มีขายอยู่ที่เว็บไซต์ไหน ร้านค้าที่ถนนไหน ราคาเท่าไหร่ มีคนรีวิวสินค้านั้นไว้ว่ายังไงบ้าง เช่น ถ้าเราบังเอิญเดินไปเจอโปสเตอร์โฆษณาอัลบั้มเพลงซิงเกิลใหม่ที่น่าสนใจ ก็เพียงแค่ใช้กล้องของมือถือไฟร์โฟนส่องไปที่โปสเตอร์นั้นแล้วกดปุ่มไฟร์ฟลาย เพียงแค่นี้ไฟร์โฟนก็จะช่วยระบุข้อมูลของซิงเกิลเพลงนั้น ๆ ให้ แล้วพาเราไปยังหน้าเว็บไซต์สำหรับดาวน์โหลดเพลงให้เลย เรียกว่าสามารถแปลวัตถุทุกอย่างรอบตัวเราให้กลายมาเป็นข้อมูลได้ในพริบตา โดยไม่ต้องเสียเวลามาพิมพ์แล้วเซิร์ชในกูเกิ้ล หรือลำบากเอารูปถ่ายไปโพสถามหาร้านขายในอินเทอร์เน็ตอย่างที่เคย ๆ กันเลยล่ะครับ สำหรับผู้รักสุขภาพหรือสาว ๆ ที่กำลังควบคุมน้ำหนักอยู่ ไฟร์โฟนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยคำนวณแคลอรี่ของอาหารที่กินไปในแต่ละมื้อได้ด้วยครับ เพียงแค่ใช้มือถือไฟร์โฟนสแกนอาหารบนโต๊ะอาหาร สแกนฉลากไวน์ หรือฉลากเครื่องดื่มต่าง ๆ แล้วนำเข้าแอพพลิเคชัน ไฟร์โฟนก็จะทำการประมวลผลบอกให้เรารู้ถึงข้อมูลทางโภชนาการของอาหารนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง หรือ แม้แต่ว่าไวน์ที่กำลังจะดื่มนั้นมีรสชาติเป็นอย่างไรเหมาะกับการกินคู่กับอาหารอะไรบ้าง เป็นต้น ในเมื่อจุดเด่นของสมาร์ทโฟนตัวนี้คือการสแกน ดังนั้นปัญหาที่ว่าทำอย่างไรให้สามารถสแกนภาพวัตถุออกมาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จะเลือกใช้เทคนิคการรู้จำแบบ (Pattern Recognition) ตัวไหนมาใช้ดี จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งในจุดนี้ก็ถือว่าทางอเมซอนทำมาได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียวครับ การสแกนภาพของวัตถุ ไม่จำเป็นต้องจับวัตถุตั้งตรง ถ่ายรูปให้ได้มุมด้านหน้าพอดีเป๊ะ เห็นวัตถุชัดแจ๋วทุกมุมก็ยังสามารถสแกนได้ ถึงแม้วัตถุนั้นจะมีลักษณะโค้งมน ไม่เรียบ มีริ้วรอย พื้นผิวมีแสงสีที่ไม่สม่ำเสมอไปบ้าง เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ฉายอยู่บนจอโทรทัศน์บ้าง ก็ไม่ได้เกินความสามารถการสแกนของไฟร์โฟนตัวนี้แต่อย่างใด ไม่เพียงเท่านี้นะครับ ไฟร์โฟนยังมีเสริมเทคนิคที่เรียกว่า Sematic Boosting เพิ่มเข้ามาให้กับระบบรู้จำแบบด้วย หากเมื่อไหร่ที่ภาพที่สแกนไม่ชัด เช่น สแกนภาพของนามบัตร แต่ในภาพเห็นเบอร์โทรศัพท์ไม่ชัดไม่รู้ว่าเลข 3 หรือ 8 กันแน่ แทนที่ไฟร์โฟนจะสุ่มผลเอามั่ว ๆ แต่ด้วยเทคนิค Semantic Boosting นี้ ไฟร์โฟนเลยจะทำการพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลจากตัวเลขใกล้เคียง และ นำไปเทียบต่อกับข้อมูลที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของอเมซอน ว่าที่ประเทศนี้ พื้นที่นี้ ย่านนี้ มีเบอร์โทรศัพท์นี้อยู่จริงไหม ทำให้สามารถเลือกแสดงข้อมูลของตัวเลขได้ถูกต้องมากขึ้น มือถือไฟร์โฟนนี้ถูกเปิดตัวในงาน Amazon Press Conference ซึ่งผู้ก่อตั้งและซีอีโอของอเมซอน Jeff Bezos ทำการสาธิตไฟร์โฟนให้ดูกันสด ๆ โดยลองให้ไฟร์โฟนสแกนภาพจากตอนหนึ่งของภาพยนตร์ Game of Thrones หนังซีรี่ส์ดังของอเมริกา ซึ่งไฟร์โฟนก็ไม่ทำให้ผิดหวัง สามารถค้นหาและแสดงข้อมูลเพิ่มเติมของหนังซีรี่ส์เรื่องนี้ออกมาโชว์ได้อย่างรวดเร็ว เห็นไหมครับ ว่าโลกเทคโนโลยีของเราหมุนอยู่ตลอดเวลาจริง ๆ คงไม่ได้เป็นการพูดที่เกินไปถ้าจะบอกว่าเรื่องของเทคโนโลยีนี้ ถ้าเผลอหยุดติดตามข่าวสารแม้เพียงไม่นาน ก็อาจถูกทิ้งห่างไปไกลจนตามไม่ทันเลยก็เป็นได้ การต้องคอยไล่ตามสิ่งใหม่ ๆ แม้จะฟังดูน่าเหนื่อยและยุ่งยากไม่เบา แต่ถ้าคุณผู้อ่านเป็นผู้รักเทคโนโลยีและชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ การไล่ตามเรื่องเหล่านี้ก็สามารถเป็นเหมือนการวิ่งออกกำลังที่ยิ่งวิ่งยิ่งสนุก ยิ่งวิ่งยิ่งติดใจขึ้นมาก็ได้นะครับ นอกจากจะไม่ตกเทรนด์แล้วยังเต็มไปด้วยโอกาสใหม่ ๆ ให้พวกเราที่ติดตามอยู่ได้เลือกไขว่คว้าอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่อาจทำให้เราได้กลายเป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกศตวรรษที่ 21 นี้ให้ดีขึ้นได้ด้วยพลังของอุปกรณ์ขับเคลื่อนที่เรียกว่าเทคโนโลยีผสานความคิดสร้างสรรค์นี่เองครับ . ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จากไอโฟนแห่งแอปเปิ้ล สู่ไฟร์โฟนแห่งอเมซอน – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related