ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้นะครับที่สมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็แทบจะเกี่ยวข้องกับสมาร์ทโฟนไปเสียหมด โทรทัศน์ก็ต่อกับสมาร์ทโฟนได้ กล้องดิจิทัลก็มีแอพใช้กับสมาร์ทโฟนได้ แม้แต่ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าเดี๋ยวนี้ยังมีการผลิตแอพเสริมของเครื่องซักผ้าบนสมาร์ทโฟนมาให้เลยครับ แต่บทบาทของสมาร์ทโฟนก็ไม่ได้หมดเพียงแค่นี้ คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่าอิทธิพลของสมาร์ทโฟนนี้แผ่กระจายไปทั่วทุกวงการไม่เว้นแม้แต่วงการการแพทย์เลยล่ะครับ กรณีที่เห็นชัด ๆ ก็คือไอโฟน 4 ของแอปเปิลที่เปิดตัวในช่วงหลายปีก่อน โดยพ่วงมาด้วยความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อจังหวะการเต้นของหัวใจนั่นเองครับ โดยจะสามารถช่วยวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจและแปลผลออกมาว่าจังหวะการเต้นของหัวใจ ณ ขณะหนึ่ง ๆ มีความถี่เท่าไหร่ แน่นอนครับว่าผลที่ได้คงไม่แม่นยำเทียบเท่าการตรวจด้วยเครื่องมือของแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาล แต่ความสามารถในการวิเคราะห์อัตราการเต้นของหัวใจได้ในเบื้องต้นนี้ก็ถือเป็นความสามารถที่ก้าวกระโดดและโดดเด่นมากของสมาร์ทโฟนในวงการแพทย์ขณะนั้น แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้นครับ ประมาณปีหน้านี้เอง เราอาจจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถตรวจผลเลือดกันได้ด้วยสมาร์ทโฟนแล้ว โดยตอนนี้ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ Qloudlab ของสถาบันการศึกษาชื่อดังในประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่าง cole Polytechnique Fdrale de Lausanne (EPFL) ได้คิดค้นอุปกรณ์เสริมและแอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจผลเลือดและส่งผลให้แพทย์ได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเดินทางไปจนถึงโรงพยาบาลอีกต่อไปแล้วครับ แอพพลิเคชั่นตรวจเลือดนี้ถูกออก แบบมาให้ทำงานร่วมกับแผ่นไบโอฟิล์ม ซึ่งเป็นแผ่นติดหน้าจอชนิดพิเศษทำมาเพื่อแอพนี้โดยเฉพาะ โดยหลักการทำงานก็ง่าย ๆ ครับ แค่ใช้เข็มเจาะเลือดที่ปลายนิ้วผู้ป่วยให้เลือดหยดลงบนแผ่นไบโอฟิล์มเหมือนที่นักเรียนมัธยมปลายสายวิทย์บ้านเราหัดเจาะเลือดกันในวิชาชีววิทยานั่นล่ะครับ ที่เหลือก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟนที่จะวิเคราะห์เลือดและส่งข้อมูลผลเลือดไปยังโรงพยาบาล พอแพทย์ที่โรงพยาบาลได้รับข้อมูลผลเลือดของผู้ป่วยก็สามารถเอาไปวิเคราะห์ต่อร่วมกับประวัติการรักษา แล้วส่งเป็นสัญญาณตอบกลับมาทางสมาร์ทโฟนของผู้ป่วยทันที เพื่อแนะนำว่าผู้ป่วยจะต้องฉีดหรือทานยาอะไรที่แพทย์เคยให้ไว้ในปริมาณเท่าใดและอย่างไรบ้าง จะเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถ ช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ประหยัดเวลาให้ทั้งผู้ป่วยและแพทย์ไปพร้อม ๆ กันได้ แถมยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้สูงขึ้นและทันท่วงทีมากยิ่งขึ้นด้วย ยิ่งโรคบางโรคที่ต้องตรวจเลือดอยู่เป็นประจำ เช่น โรคหัวใจวาย ถ้าให้แพทย์ต้องขับรถจากบ้านมาโรงพยาบาลเพื่อมาตรวจ ผู้ป่วยต้องขับรถจากบ้านมาโรงพยาบาลเพื่อมารับการตรวจ แถมยังต้องมาต่อคิวยาว ๆ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งก็แค่เจาะเลือดง่าย ๆ เพื่อปรับยาเล็กน้อย แบบนี้ก็เป็นการเสียเวลาทั้งแพทย์และผู้ป่วยเอง รวมไปถึงเสียโอกาสในการเข้าพบแพทย์ของผู้ป่วยคนอื่น ๆ ที่อาจมีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าด้วย ณ ตอนนี้แอพพลิเคชั่นนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานจริงแล้วครับ คาดการณ์กันว่าน่าจะสามารถวางจำหน่ายได้ภายในปี ค.ศ. 2015 นี้ นับเป็นเรื่องที่ดีและไม่ไกลตัวเราเลยใช่ไหมครับ สำหรับความก้าวหน้าทางเทคโน โลยีที่ไม่เพียงแต่สร้างความสนุกและความสะดวกสบายให้ชีวิต แต่ยังเลยมาถึงขั้นที่อาจช่วยรักษาชีวิตหรือโรคภัยไข้เจ็บให้เราได้ด้วย คุณผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์วันพุธของผมเป็นประจำคงจะรู้สึกได้ว่าเทคโนโลยีรอบโลกของเราล้ำหน้าขึ้นทุกวันอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแค่ด้านดีแต่รวมถึงด้านไม่ดีด้วย แต่ผมเชื่อนะครับว่าแทนที่เราจะปฏิเสธความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทค โนโลยีเพราะกลัวผลด้านลบ แต่ถ้าเราเข้าใจเทคโนโลยี รู้ให้เท่าทันมัน และนำมันมาใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้องกับตัวของเรา องค์กรของเรา และสังคมของเรา นั่นต่างหากล่ะครับที่จะก่อเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนที่แท้จริง เพราะในความเป็นจริงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโลกของเราไม่เคยหยุดหมุน หากเราเลือกที่จะปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเดินถอยหลัง ปล่อยให้โลกรอบตัวแซงหน้าเราไปนั่นเองครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ตรวจเลือดผ่านมือถือ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related