ปฏิเสธไม่ได้ถึงประโยชน์มากมายที่ “สมุนไพร” มี และกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย แต่ทว่าในสรรพคุณเหล่านั้น หากใช้ผิดอย่างสับสน ผิดต้น ผิดส่วน ผิดขนาด หรือผิดวิธี ก็อาจนำมาซึ่งโทษมหันต์ได้เช่นกัน ซึ่งสมุนไพรไทย แม้กระทั่งเห็น “ต้น” ยังยากที่จะบอกได้อย่างถูกต้องว่าใช่หรือไม่ แล้วยิ่งยากกว่านั้นหากผ่านการแปรรูปด้วยการสับหรือบดผสมในแคปซูล เราจะรู้ได้อย่างไรว่า… แคปซูลที่เราทานอยู่นั้นมีส่วนผสมของสมุนไพรในตำรับจริง ๆ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง อาจารย์  ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การใช้สมุนไพรให้ถูกต้น เป็นสิ่งสำคัญประการแรก ถ้าใช้ผิดตั้งแต่ต้น ย่อมไม่ได้สรรพคุณตามที่ต้องการ  แต่สมุนไพรจำนวนมากยังไม่มีข้อมูล    ที่แน่นอน ทั้งเรื่องชนิดหรือพันธุ์พืช นอกจากนี้ยังมีความสับสนในการเรียกชื่อตามท้องถิ่น สมุนไพรหลายชนิดมีชื่อเดียวกัน แต่มาจากต้นไม้ต่างชนิด ต่างสกุล หรือต่างวงศ์ก็มี ดังนั้นการพิสูจน์เอกลักษณ์ว่าเป็นสมุนไพรชนิดนั้น ๆ จริงหรือไม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็น  เดิมอาจจะใช้ประสาทสัมผัสในการตรวจสอบ เช่น สังเกตรูปร่างภายนอก ดม หรือชิม แต่เมื่อแปรรูปไปอยู่ในร้านขายเครื่องยาแล้วยิ่งยากต่อการสังเกต จึงมีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบเอกลักษณ์ สำหรับการใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา บอกว่า นอกจากการตรวจโดยใช้องค์ประกอบทางเคมีหรือ “พฤกษเคมี” ที่กำลังนิยมในการตรวจหรือทำมาตรฐานของสมุนไพร หรือการตรวจหาลักษณะเด่นทางสัณฐานวิทยาแล้ว  วิธีที่ทันสมัยและกำลังได้รับความ    นิยมเพิ่มมากขึ้นอีกวิธีหนึ่งก็คือ การตรวจหาเอกลักษณ์สมุนไพรด้วยลายพิมพ์ดีเอ็นเอ หรือฟิงเกอร์พรินต์ เนื่องจากดีเอ็นเอหรือข้อมูลทางพันธุกรรม เป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิต ที่ช่วยจำแนกและพิสูจน์ ชี้เฉพาะลงไปได้ว่าเป็นใครได้อย่างชัดเจน  ปัจจุบัน หน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ภายใต้โครงการศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดให้บริการตรวจสอบเอกลักษณ์พืชสมุนไพรและเครื่องยาสมุนไพรโดยใช้ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย  บริการดังกล่าวจะช่วยยืนยันว่ามีการ    ใช้สมุนไพรที่ถูกต้อง 100% ตรงตามตำรับยา สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค และสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ที่สามารถนำไปทำตลาดต่างประเทศได้ หลังจากเปิดให้บริการมาประมาณ         5 ปี ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์มาให้พิสูจน์ว่ามีจริงในตำรับหรือไม่ หรือนำต้นมาให้พิสูจน์ว่าเป็นต้นอะไร หน่วยวิจัยฯ ได้มีการเก็บลายพิมพ์ดีเอ็นเอของพืชสมุนไพรไทยไว้สำหรับอ้างอิง โดยฝากไว้ในฐานข้อมูลด้านพันธุกรรมของโลกแล้วกว่า 100 ชนิด บริการนี้สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วภายใน 2 ชั่วโมง ตรวจสมุนไพรได้ทั้งสดและแห้ง หรือที่เก็บไว้นานหลายสิบปี  สำหรับสมุนไพรที่ถูกนำมาศึกษาลายพิมพ์ดีเอ็นเอแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรที่มีความสับสนในการใช้ หรือพบการปนปลอมด้วยสมุนไพรชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่า เช่น รางจืด และกวาวเครือ ที่มีหลายชนิดและมีสรรพคุณไม่เหมือนกัน และที่สำคัญคือสมุนไพรที่มีพิษ เช่น “รากไคร้เครือ” ที่มีงานวิจัยออกมาแล้วว่ามี สารสำคัญที่เป็นพิษและก่อมะเร็งในสัตว์และมนุษย์ ทำให้ทั่วโลกมีการระงับใช้ผลิตภัณฑ์ ทุกชนิดที่มีพืชสกุลนี้เป็นส่วนประกอบ รวมถึงประเทศไทย ตัดไคร้เครือออกจากทะเบียนตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว  นักวิจัยบอกว่า จากการสุ่มสอบร้านจำหน่ายเครื่องยาสมุนไพรหลายแห่งทั่วประเทศ พบว่ายังคงมีการจำหน่าย ทั้งในลักษณะรากแห้งและผงยา ทำให้หากยังมีการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของตำรับยา อาจก่อให้เกิดอันตรายและความเป็นพิษร้ายแรงต่อผู้บริโภคได้ จึงได้มีการนำเทคโนโลยีการตรวจดีเอ็นเอ ชนิดตรวจลำดับนิวคลีโอไทด์ เพื่อตรวจเครื่องยาไคร้เครือที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายและพิษจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น นวัตกรรมการตรวจเอกลักษณ์พืชสมุนไพรด้วยดีเอ็นเอนี้ นักวิจัยบอกว่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับด้านอื่น ๆ เช่น ด้าน  นิติเวช ในการตรวจแยกพืชบางชนิดออกจากพืชเสพติด เช่น กระทุ่ม มีฤทธิ์แก้ท้องเสียแต่มีลักษณะคล้ายกระท่อมที่เป็นพืชเสพติด หรือใช้ในการตรวจเอกลักษณ์พืชชนิดใหม่ของโลก ที่เราสามารถผสมพันธุ์ได้เอง เช่น กล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยยืนยันและนำไปทำตลาดยังต่างประเทศได้มากขึ้นอีกด้วย. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ทำไม..สมุนไพรต้องตรวจดีเอ็นเอ

Posts related