ช่วงนี้ประเด็นหนึ่งที่ถูกถกเถียงกันอย่างร้อนแรงและกว้างขวางในสังคมไทยคงหนีไม่พ้นเรื่องภาษีที่ดินและภาษีมรดกนะครับ วันนี้ผมเลยจะมาชวนคุณผู้อ่านคุยกันเรื่องภาษี ๆ บ้าง แต่ไม่ใช่เจ้าภาษีสองตัวที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่นี้นะครับ เป็นภาษีอีกตัวหนึ่งที่ยังไม่มีในประเทศไทยซึ่งผมขอเรียกสั้น ๆ ว่า ภาษีนวัตกรรม

คำว่าภาษีนี้ ได้ยินแล้วก็อดรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ ไม่ได้นะครับ แต่ภาษีนวัตกรรมที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้ไม่ใช่เรื่องของการที่พวกเราจะต้องควักกระเป๋าหรือโดนหักเงินเพิ่ม ตรงกันข้ามมันเป็นเรื่องของการที่เราจะได้รับการลดหย่อนทางด้านภาษีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา (Innovation Tax Relief) ซึ่งจุดมุ่งหมายหลักก็อยู่ที่บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อที่ธุรกิจเหล่านั้นจะได้เข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นของตนเองนั่นเอง

ไอเดียของภาษีนวัตกรรมนี้ก็ยกตัว อย่างเช่น ถ้าคุณผู้อ่านคนไหนสามารถสร้างโซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่ที่ดีกว่าเฟซบุ๊กได้ในสักมิติหนึ่ง หรือองค์กรขนาดย่อมใดสามารถผลิตเว็บอีคอมเมิร์ซออกมาให้เสถียรน่าใช้กว่าอาลีบาบา หรือแม้แต่ใครก็ตามที่สามารถคิดประดิษฐ์ระบบสืบค้นที่รวดเร็วยิ่งกว่ากูเกิลได้สำเร็จ รัฐบาลที่บังคับใช้ภาษีนวัตกรรมนี้ ก็จะมีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องภาษีรายได้ตอบแทนผู้คิดค้นนวัตกรรมเหล่านั้น

ประเด็นภาษีนวัตกรรมนี้ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรนะครับ ถ้าย้อนไปดูกันจริง ๆ รัฐบาลอังกฤษก็เคยมีแนวคิดคล้าย ๆ กันนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 แล้ว โดยใช้ชื่อว่า R&D Tax Credits ที่มุ่งสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัทที่ผลิตงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และถ้าใครได้ไปศึกษาในเชิงลึก ก็จะเห็นว่าไม่ใช่แค่อังกฤษประเทศเดียว แต่ประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา ต่างก็มีแนวคิดสนับสนุนการวิจัยและผลิตนวัตกรรมผ่านทางนโยบายของภาครัฐในรูปแบบคล้าย ๆ กันนี้แล้วทั้งสิ้น

แน่นอนครับว่าถ้าจะนำเรื่องภาษีนวัต กรรมนี้มาบังคับใช้จริง ก็คงมีเรื่องอีกมากที่ ต้องขบคิดกันให้รอบ คอบ ไหนจะต้องคิดคำจำกัดความของนวัตกรรมให้ชัด เจน ประมาณตัว เลขจำนวนภาษีนวัตกรรมที่รัฐสามารถช่วยสนับสนุนได้ แต่งตั้งหน่วยงานที่จะกำหนดและควบคุมการใช้ กฎเกณฑ์นี้ และอื่น ๆ อีกมากมายครับที่ต้องทำ เพื่อให้ไม้บรรทัดที่พวกเราสร้างขึ้นนั้นโปร่งใส ชัดเจน และยุติธรรม

เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ ผลงานค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ การคิดโนว์ฮาวใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับประเทศไทยเราที่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ผมคิดว่าการกำหนดทิศทางและเป้าหมายของประเทศให้ชัดเจนสอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นหน้าที่หนึ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับรัฐบาลซึ่งเป็นเสมือนหัวเรือใหญ่ที่สามารถกำหนดเครื่องมือและสร้างมาตรการรองรับช่วยเหลือต่าง ๆ ที่จะช่วยขับดันให้ความหวังที่ประเทศเราจะมีนวัตกรรมสุดยอดกับเขาบ้างจะไม่เป็นแค่ฝันที่ไกลเกินเอื้อม

แน่นอนครับว่าหน้าที่ในการขับเคลื่อนประเทศนั้น คงไม่ได้มาจากรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง องค์กรใดองค์กร หนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องมาจากประชาชนทุก ๆ คน ผมเชื่อว่ารัฐบาลที่เป็นหัวเรือที่ดีนั้นไม่ใช่รัฐบาลที่คอยปรนเปรอทุกอย่างให้ประชาชน ประเคนให้ได้ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่เหมือนผู้บริหารวิสัยทัศน์กว้างไกลบวกคอยผลักคอยดันด้วยในเวลาเดียวกัน ช่วยเปิดโอกาส เล็งผลไกลวางแนวทางให้ปัจเจก บุคคล เยาวชนรุ่นใหม่ ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองและแจ้งเกิดด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเป็นตัวหล่อเลี้ยงพวกเขาเหล่านั้นไปได้อย่างยั่งยืน

อย่างนี้ต่างหากล่ะครับถึงจะสมกับเป็นรัฐบาลของโลกศตวรรษที่ 21 ที่ที่เสียงและพลังของคนเพียงหนึ่งหรือไม่กี่คนสามารถที่จะถูกขยายให้ดังก้องไปทั่วทั้งโลกได้ด้วยมหัศจรรย์แห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช
มหาวิทยาลัยรังสิต
chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ภาษีนวัตกรรม – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related