ปัญหาการส่งออกไทยยังต้องเผชิญมรสุมนับไม่ถ้วน… ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ตัว ปัญหาการเมืองในประเทศช่วงต้นปี ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ออกอาการไม่สู้ดี กับการทบทวนเป้าหมายการส่งออกหลายรอบ หลังจากที่เดิมเคยตั้งเป้าหมายปี 57 ขยายตัว 5% แล้วลดลงเหลือ 3% และดูแนวโน้มจะลดลงเหลือ 2% เพราะแค่ 7 เดือนแรกส่งออกไทยยังติดลบ 0.42% อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสินค้าส่งออกความหวังของไทยคือ “รถยนต์” ที่คาดว่าจะโต 10% มูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์โต 10% มูลค่าไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่ารายใหญ่ติดอันดับท็อปเทนของโลก อาจไม่สดใสเหมือนกัน ***รถยนต์เลือกลงทุน เมื่อตลาดรถยนต์ไทยเริ่มมีทิศทางที่อิ่มตัว และเริ่มซบเซาจากนโยบายรถยนต์คันแรก ที่ประชาชนนับล้านคนได้ซื้อรถล่วงหน้าไปแล้ว ประกอบกับการส่งออกเริ่มไม่สดใส เพราะบรรดาค่ายรถยนต์แห่ย้ายฐานการผลิตไปอินโดนีเซีย เช่น ค่ายโตโยต้า ที่ทุ่มทุนมหาศาลสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีโคคาร์เหมือนกับไทย ด้วยเพราะอินโดนีเซีย มีประชากรไม่ต่ำกว่า 250 ล้านคน หรืออาจมากถึง 300 ล้านคนได้ เพียงแค่ผลิตขายในประเทศ ยอดขายก็ทะลักแล้ว ผลที่ออกคือยอดส่งออกไทยไปตลาดอินโดฯ ลดฮวบ และอนาคตอาจถูกรถยนต์จากอินโดฯ ตีตลาดไทยก็เป็นได้ ***ย้ำไม่ได้ย้ายฐานหนีไทย “สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงศ์” รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ระบุ การเปลี่ยนแปลงของค่ายรถยนต์นั้น เกิดขึ้นมา 4-5 ปีแล้ว ผู้ประกอบการเข้าไปขยายการลงทุนในอินโดฯ เพราะเห็นว่าเติบโตดีกว่าไทยมาก และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอีกมากในอนาคต ทั้งปริมาณการขายรถในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 56 ขายรถภายในประเทศได้ 1.2 ล้านคัน ปีนี้คาดว่าจะขายได้ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านคัน เพราะประชากรที่มากกว่า 200 ล้านคน แถมยังมีเงื่อนไขการลงทุนที่เอื้อต่อการทำธุรกิจที่น่าพอใจ ล่าสุดได้ออกประกาศส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก ใช้พลังงานทางเลือก และรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งคล้ายคลึงกับรถอีโคคาร์ของไทย ปัจจัยบวกเหล่านี้จึงจูงใจให้ค่ายรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนมุ่งความสนใจไปในอินโดฯ “อุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ได้ย้ายฐานการผลิตไปจากไทย แต่ไม่ขยายการลงทุนเพิ่มในไทยมากกว่า เคยทำอยู่เท่าใดก็เท่านั้น ประเทศที่เป็นเป้าหมายลงทุนเพิ่ม ไม่เฉพาะอินโดฯ เท่านั้น ยังมีประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายแห่ง เพราะที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาอุทกภัย สร้างทั้งความเสียหาย เสียโอกาส ส่งผลกระทบให้โรงงานหลายแห่งต้องหยุดผลิต เพราะส่งออกชิ้นส่วนไม่ได้ อีกทั้งเจอสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การขาย การผลิตลดลง ภาคธุรกิจจึงต้องมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีโอกาสเติบโตได้” ***ระวังเสียแชมป์ส่งออก ด้วยสารพันปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ทำให้เป้าหมายที่เคยวางไว้ว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน ในปี 60 นั้น อาจต้องเลื่อนออกไปอีก 1-2 ปี โดยช่วง 6-7 ปีจากนี้ วงการรถยนต์ไทยคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก… แต่หลังจากนั้น…ไทยอาจสูญเสียความเป็นผู้นำการส่งออกรถยนต์ไม่อย่างใดอย่างหนึ่งไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า ไทยยังย่ำอยู่กับที่เหมือนที่ทำมาเกือบ 10 ปี ไม่สร้างบรรยากาศที่ดี ไม่มีนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน หรือสร้างความเชื่อมั่นว่า แก้ปัญหาอุทกภัยได้โดยไม่เกิดขึ้นอีก รวมถึงปัญหาการเมืองเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ***ฮอนด้าเดินหน้าโรงงานใหม่ อย่างไรก็ตาม บรรดาค่ายรถยนต์เองยังยืนยันที่จะลงทุนในเมืองต่อเนื่อง อย่าง “สมภพ ปฏิภานธาดา” ผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาด ค่ายฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ฮอนด้ายังเดินหน้าลงทุนในไทยต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศแผนการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ มูลค่า 17,150 ล้านบาท ที่ จ.ปราจีนบุรี มีกำลังการผลิตปีละ 120,000 คัน อีกทั้งยังขยายกำลังการผลิตในโรงงานเดิมที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มเป็น 300,000 คัน เมื่อรวมกำลังการผลิตจากโรงงานทั้ง 2 แห่ง ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวม 420,000 คันในปี 58 ***ยังไม่ลงทุนโครงการใหญ่ ขณะที่ค่ายโตโยต้า เวลานี้ยังไม่ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ เพราะได้ลงทุนไปก่อนหน้าแล้ว โดยรวมแล้วโตโยต้ามีกำลังการผลิตในไทยกว่า 800,000 คัน และไทยยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอาเซียน และการลงทุนในแต่ละประเทศเป็นเอกภาพ โดย โตโยต้า มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินโดนีเซีย (ทีเอ็มเอ็มไอเอ็น) มีโรงงาน 4 แห่งใน อินโดฯ และมีกำลังการผลิตโดยรวมปีละ 250,000 คัน ***อนาคตไทยผลิตรถทางเลือก ผู้ผลิตรถยนต์มองว่า การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนมีมาก ดังนั้น บริษัทแม่ของค่ายรถยนต์ต่างก็ต้องคว้าโอกาสที่ดีนี้เอาไว้ใครถึงก่อนปักธงก่อน เลือกผลิตรถสนองความต้องการของตลาด และขยายกำลังการผลิตเพิ่ม บริหารต้นทุนการผลิตให้ถูกลง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด หากมองในแง่บวก ไทยก็ยังผลิตรถกระบะเป็นอันดับ 2 ของโลก รถอีโคคาร์เริ่มไต่ระดับเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ และอนาคตอาจต้องขยายกำลังการผลิตไปรถประเภทอื่น ๆ เช่น รถพลังงานทางเลือก รถที่มีนวัตกรรมใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเพิ่มมูลค่า ทดแทนการผลิตที่ลดลงในอนาคต ต้องยอมรับความจริงว่าภาคยานยนต์ไทยเปลี่ยนไปมาก ทุกวันนี้ไม่ได้ยึดติดว่าประเทศใดประเทศหนึ่งต้องเป็นฐานการผลิตแล้ว บทบาทของแต่ละประเทศเน้นผลิตรถสนองตอบการใช้ของผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ๆ ที่สำคัญ ประเทศในแถบอาเซียนหลายแห่งมีบรรยากาศ นโยบายการลงทุนที่จูงใจ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ หากไทยไม่ปรับกลยุทธ์เพื่อจูงใจ แก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรค นับตั้งแต่บัดนี้ อนาคตคงได้แค่ “ทำใจ” รับสภาพ. เนตรนภางค์ บุญนายืน  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รถยนต์พาเหรดลงทุนอิเหนา จับตาไทยเสียแชมป์ส่งออก

Posts related