ฤดูฝนของไทย มีศัพท์ที่ได้ยินจากกรมอุตุนิยมวิทยาบ่อยครั้งอยู่ 2 คำ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย กับ ร่องมรสุม หรือร่องความกดอากาศต่ำ สองปัจจัยนี้ คือตัวการทำให้เกิดฝนทั้งคู่ โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นลมประจำฤดูฝน ที่เริ่มต้นพัดจากทะเลอันดามัน ปะทะ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ด้ามขวานของแผนที่ประเทศ ซึ่งถ้ามีกำลังแรง ก็ทำให้ฝั่งตะวันออกมีฝนเยอะไปด้วย บริเวณประเทศไทยตอนบน นับแต่ก้นอ่าวไทยขึ้นไปโดน แต่ที่แน่ๆ พื้นที่ด้านตะวันตก จะเป็นย่านที่โดนฝนก่อนและโดนมากกว่า  ในช่วงหน้าฝน ถ้าสังเกตจากข่าว จะได้ยินว่า ฝนจะเริ่มตกจากแถว หนองแขม บางบอน ภาษีเจริญ ก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและจุดสุดท้าย ก็จะโดนแถวๆ ลาดกระบัง มีนบุรี  ออกบางน้ำเปรี้ยว ร่องมรสุม เป็นอีกปัจจัย ที่ในฤดูฝน ช่วงต้น จะพาดอยู่แถวภาคกลาง แล้วคอ่ยเลื่อนขึ้นไปเรื่อย จนถึงภาคเหนือ และเลยออกพ้นอาณาเขตประเทศไปจนถึงทางตอนใต้ของประเทศจีน เป็นเวลาราวหนึ่งเดือน จึงปรากฏว่า ช่วงปลายเดือนมิถุนายน จนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ฝนบริเวณประเทศไทยจะลดลง บางแห่งทิ้งช่วงไปเลยก็มี พอถึงเดือนสิงหาคม  ร่องมรสุมจะค่อยเคลื่อนกลับลงมา โดยขณะนี้พาดอยู่ในแนวประเทศเมียนมาร์ ลาว และเวียดนามตอนบน ซึ่งจะเลื่อนต่ำลงมาเรื่อยๆ จนถึงภาคกลางตอนล่าง คลุมกรุงเทพฯในช่วงท้าย ราวครึ่งหลังของเดือนกันยายน ในช่วงที่ร่องมรสุม ออกไปแอ็กอยู่นอกประเทศนั้น มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ก็ยังทำหน้าที่อยู่ในเมืองไทย ให้มีฝนได้เป็นพื้นที่  ครั้นถึงเดือนสิงหาคม ก็เท่ากับว่า ทั้งร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะร่วมแรงแข็งขันกันทำให้เกิดฝนตกในบริเวณประเทศไทยตอนบน ที่ผ่านมา ขนาด มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ อย่างเดียว ยังมีฝนหนัก ระบายไม่ทัน หลากท่วมบางพื้นที่ บางจังหวัดได้ ดังนั้น ต่อจากนี้ไปอีกราว เดือนเศษ มีปัจจัยของฝน 2 ตัวรวมกัน ก็คงยิ่งทำให้ตกชุกหนาแน่นได้ กรมอุตุฯ บอกว่า วันที่ 19-21 ส.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องมรสุมที่เลื่อนลงมาพาดผ่านประเทศเมียนมาร์  ลาว และเวียดนามตอนบน จะทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มในเกณฑ์กระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะเบาบางลงก็วันที่ 22-24 ส.ค. เอาเป็นว่า สัปดาห์นี้ ภาคเหนือ  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นพื้นที่ซึ่งต้องระวังฝนฟ้าเข้าไว้ เพราะบางที่เคยมีฝนฉ่ำ น้ำนองมาแล้ว ถ้าชุมชนอยู่ใกล้ทางน้ำไหล  ให้เก็บของมีค่าไว้ในที่ปลอดภัยแล้วกัน หยาดน้ำฟ้า

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ร่องมรสุม!! – รู้หลบ

Posts related