วันนี้ (29 สิงหาคม 2557 ) ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล  กรุงเทพ ฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดพิธีมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น สกว.ประจำปี 2556 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและให้กำลังใจแก่นักวิจัยเจ้าของผลงาน ทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมสู่สาธารณะรวมถึงกระตุ้นให้สังคมตระหนักและมองเห็นความสำคัญตลอดจนประโยชน์ของงานวิจัย โดยมี ศ. นพ.ไกรสิทธิ์  ตันติศิรินทร์ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นประธานในพิธี  นอกจากนี้ในงานยังจัดให้มีการปาฐกถาพิเศษ “การวิจัยกับการพัฒนาประเทศ” โดย ศ. นพ.จรัส สุวรรณเวลาอดีตประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย  ศ. นพ.ไกรสิทธิ์  กล่าวว่างานในครั้งนี้นับเป็นนิติหมายอันดีสำหรับนักวิจัยทุกคนที่จะนำความรู้จากศาสตร์สาขาที่แต่ละคนเชี่ยวชาญไปช่วยกันพัฒนาประเทศซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสกว.ประสบความสำเร็จในการยกระดับความเข้มแข็งของงานวิจัยโดยมุ่งสร้างความรู้ที่ไม่จำกัดเพียงด้านวิชาการ หากรวมถึงทุกภาคส่วนต่าง ๆของสังคม ทั้งการสร้างความเข้มแข็งของคน ชุมชน และพื้นที่ซึ่งเป็นรากฐานการผลิตของสังคมอย่างเกษตรกรและประชาชนธรรมดารวมถึงการสร้างทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์  งานวิจัยที่ได้รับรางวัลในปีนี้หลายโครงการสะท้อนการแก้ปัญหาของประเทศในหลายระดับ ตั้งแต่การพัฒนาเด็กที่หันกลับมาให้ความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งของชุมชนแบบมีส่วนร่วมของบวรหรือบ้านวัด โรงเรียน นำไปสู่ผลลัพธ์คือเด็กมีความสุขในการเรียนนอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนโครงการวิจัยที่เป็นการทำงานร่วมกันของนักวิชาการไทยและกัมพูชาตลอดจนความร่วมมือกับญี่ปุ่นด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์และโบราณคดีการใช้ประโยชน์เรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเยาวชนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างมิตรไมตรีอันดีต่อกัน ในส่วนของการพัฒนากลุ่มอาชีพฐานรากของประเทศประกอบด้วยการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่พัฒนาทั้งความเข้มแข็งในตัวเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สามารถวางแผนการผลิตการตลาดได้ จะได้ไม่เป็นเกษตรกรยากจนอีกต่อไปผลจากการดำเนินงานในโครงการนำร่องต่าง ๆขยายผลไปสู่การปรับเชิงนโยบายที่เอื้อต่อการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า  การให้ความสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ เป็นต้น ขณะเดียวกัน สกว. ก็มุ่งสร้างสรรค์ความรู้ทางวิชาการให้ทัดเทียมนานาชาติ ดังจะเห็นได้จากคุณภาพงานวิจัยซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติที่มีผลกระทบระดับสูงเป็นจำนวนมากอีกทั้งงานวิจัยเชิงวิชาการที่สั่งสมความรู้จากทีมนักวิจัยซึ่งได้พัฒนาไปเป็นนวัตกรรมที่พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์กับภาคเอกชนอีกด้วย   “การทำงานและการสนับสนุนของ สกว.เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ผลงานวิจัยก่อเกิดประโยชน์และคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศได้หากแต่ต้องประกอบกับนักวิจัยทุกท่านที่ได้ทุ่มเทความสามารถและกำลังกายใจในการวิจัยผลักดัน และเชื่อมโยงให้ผลงานวิจัยเหล่านี้ไปสู่ผู้ใช้กลุ่มต่าง ๆ ดังที่ปรากฏ” ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัยกล่าว ด้าน รศ. ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะรองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ กล่าวว่า สกว.ได้ทำการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2556เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างผลงานที่มีคุณค่าแก่สังคมไทยและพัฒนาไปสู่สังคมอุดมปัญญาโดยมีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น16 โครงการ ใน 3 กลุ่มงาน คือ (1) กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา จำนวน 5 ผลงาน  ได้แก่  1. การติดตามกระแสการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่อากรศุลกากรสำหรับสินค้าไทยส่งออกไปต่างประเทศ โดย รศ. ดร.นิรมล สุธรรมกิจ และคณะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.การพัฒนากรอบการดำเนินงานและฐานข้อมูลเพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดการประเมินวงจรชีวิตโดย รศ. ดร.พจพจน์ เปี่ยมสมบูรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. การศึกษาความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมท้องถิ่นสมัยอดีตถึงปัจจุบันเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณในพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและคาบสมุทรมลายาระยะที่ 2 โดย พ.อ. รศ. ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 4. เครือข่ายกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพรานโดย คุณอรุษ นวราช 5. การวิจัยและพัฒนายางล้อตันรถฟอร์คลิฟท์ประหยัดพลังงานโดย ผศ. ดร.กฤษฎา สุชีวะ มหาวิทยาลัยมหิดล (2) กลุ่มงานวิจัยเชิงวิชาการและมนุษยศาสตร์ จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ 1. การศึกษาฤทธิ์ของ cyclin D1-CDK4ในขบวนการตอบสนองหลังจากเกิดการทำลายของ DNA โดย ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย มหาวิทยาลัยมหิดล 2. การพัฒนาหน่วยแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกจากก๊าซชีวภาพหรือก๊าซธรรมชาติโดยใช้กระบวนการเมมเบรนคอนแทคเตอร์ โดย ศ. ดร.รัตนา จิระรัตนานนท์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3. การศึกษาคุณลักษณะและความสัมพันธ์ของฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งกับฮอร์โมนที่กระตุ้นต่อมสืบพันธุ์ของกุ้งและปูกับการประยุกต์ใช้ในระบบเพาะเลี้ยงโดย ศ. ดร.ประเสริฐ โศภณ มหาวิทยาลัยมหิดล 4. การผลิตแอนติบอดีสำหรับรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีและการสร้างฟาจไลบราลีที่ดิสเพลย์มินิบอดีหรือนาโนบอดีโดย ศ. ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา มหาวิทยาลัยมหิดล 5. ความหลากหลายทางโครงสร้างการเปลี่ยนเฟสทางโครงสร้างเชิงพลวัตและสมบัติทางแม่เหล็กของโครงข่ายผสมระหว่างโมเลกุลอนินทรีย์และโมเลกุลอินทรีย์โดย ดร.เจ้าทรัพย์ บุญมาก และ ศ. ดร.สุจิตรา ยังมี 6. คาร์บอนนาโนทูปสำหรับการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าและเทคนิคเชิงแสงโดย น.ส.วิลาสินี จุ้งลก และ รศ. ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ(3) กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นและพื้นที่จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1. การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักกยภาพการผลิตข้าวโพดแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกโดย นางสุวรรณา เมืองพระฝาง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาบัว 2. การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการธุรกิจเกษตร:มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์กับเครือข่ายเกษตรกรองค์กรท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์และภาคีโดย ผศ. ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ 3. การสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการ ส.ป.ก. 4. การศึกษารูปแบบการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนและชุมชนนายสองศรี แสงศรี 5. โครงการอ่าวปัตตานีด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูอ่าวปัตตานี โดย น.ส.สุวิมล พิริยธนาลัย         

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สกว.มอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่นปี 2556

Posts related