ถ้าลองมองย้อนไปดูในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา คุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมเคยสังเกตไหมครับว่า ธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีเป็นธุรกิจที่มีความเป็นพลวัตค่อนข้างสูง ใช้เวลาไม่นานก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจแถวหน้าในโลกศตวรรษที่ 21 นี้ได้ มีบุคคลธรรมดามากมายโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่อาศัยธุรกิจด้านเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้เขาเหล่านั้นผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐีแถวหน้าของโลกได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ไล่ตั้งแต่ บิล เกตส์ (Bill Gates) ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ แลร์รี เพจ (Larry Page) ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิล หรือแม้แต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก โดยที่มูลค่าทรัพย์สินของแต่ละชื่อที่ผมกล่าวมานี้มหาศาลขนาดใกล้เคียงกับระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของประเทศไทย (GDP) เลยครับ ชื่อของเหล่าอภิมหาเศรษฐีฝั่งโลกตะวันตกนี้คงเป็นที่คุ้นหูคุณผู้อ่านกันอยู่แล้วไม่มากก็น้อย แต่ถ้ากลับมาที่ฝั่งโลกตะวันออกของเราบ้างล่ะ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองก็เพียงสหรัฐอเมริกา คุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่าบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่แบบนี้คือใคร และธุรกิจแบบไหนที่เขาผู้นั้นทำอยู่ ชื่อของ แจ็ค หม่า (Jack Ma) อาจไม่เป็นที่คุ้นหูของคุณผู้อ่านเท่าไหร่นัก แต่ถ้าพูดถึงบริษัทอาลีบาบา (Alibaba) ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งของประเทศจีน เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนคงเริ่มคลับคล้ายคลับคลาบ้าง หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า อาลีบาบาเกิดจากคนจีนเป็นผู้ก่อตั้ง เพราะฉะนั้นปัจจุบันก็น่าจะเป็นของคนจีน แต่ถ้าไปดูที่ตัวเลขผู้ถือหุ้นจริง ๆ ปัจจุบันอาลีบาบา มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัทซอฟต์แบงค์ (SoftBank) ของประเทศญี่ปุ่นที่ถือหุ้นถึง 34.4% ตามมาด้วย ยาฮู (Yahoo) ที่ถือหุ้นอยู่ที่ 22.6% ส่วนผู้ก่อตั้งอย่าง แจ็ค หม่า นั้นมีหุ้นอยู่เพียง 9% เท่านั้นเอง แต่เป็น 9% ของเงินจำนวนอภิมหาศาลเลยล่ะครับ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ได้เปิดเผยว่า แจ็ค หม่า ชาวจีนผู้ก่อตั้งอาลีบาบาคนนี้ล่ะครับ ที่ถือครองทรัพย์สินมูลค่ามากกว่าสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเหนือกว่าสถิติทรัพย์สินของนักธุรกิจทุกรายในจีนแผ่นดินใหญ่ (ยกเว้นฮ่องกง) หรือว่าง่าย ๆ ก็คือเขาคนนี้นี่ล่ะครับ อภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในแดนมังกรของจีนแผ่นดินใหญ่ การประเมินของสำนักข่าวบลูมเบิร์กนี้ เกิดขึ้นจากการที่บริษัทอาลีบาบาได้ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาโดยที่จะเปิดขายหุ้นครั้งแรกหรือ IPOภายในเดือนนี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าการเปิดขาย IPOของบริษัทอาลีบาบานี้จะเป็นการขายหุ้นบริษัทครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐเลยก็ว่าได้ อีกทั้งหลายฝ่ายก็วิเคราะห์ด้วยว่าหุ้นของอาลีบาบาน่าจะขายได้ในราคาที่สูง จนอาจทำให้มูลค่ากิจการของบริษัทพุ่งขึ้นไปถึง 168,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาทได้เลยล่ะครับ แต่คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเงินทุนทหาศาลขนาดนี้ เพิ่งจะถูกก่อตั้งมาได้ราว 15 ปีเท่านั้นเอง ( ก่อตั้งในปีค.ศ .1999) แถมจำนวนสมาชิกรุ่นก่อตั้งบริษัทที่ร่วมแรงร่วมใจกับ แจ็ค หม่า ในการสร้างบริษัทอาลีบาบานี้ขึ้นมาก็เริ่มต้นจากคนเพียงแค่ 18 คนเท่านั้น ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดที่อาลีบาบาประเทศจีนที่เดียวนะครับ ไม่ว่าจะเป็นอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือ กูเกิลเอง ต่างก็มีจุดร่วมที่เป็นบริษัทธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่เริ่มก้าวแรกจากจำนวนพนักงานเพียงหยิบมือ โดยหัวหอกผู้ก่อตั้งที่เป็นคนธรรมดาไม่ได้ร่ำรวย ไม่มีเงินทุนสนับสนุนจากครอบครัวมาให้ใช้ในการก่อร่างสร้างบริษัทได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน อาศัยเพียงความสามารถในการนำความรู้ที่พวกเขามีอยู่มาบูรณาการเข้ากับเครื่องมือแห่งโลกยุคสารสนเทศ ยิ่งพอเสริมเข้าไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่มาได้จังหวะเหมาะเจาะด้วยแล้ว ผลที่ได้ก็ส่งให้คนธรรมดา ๆ อย่างพวกเขาผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับโลก ที่จะถูกจารึกจดจำไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกในฐานะผู้สร้างมรดกตกทอดทางนวัตกรรมที่เป็นฟันเฟืองที่ช่วยให้โลกใบเล็ก ๆ ของเราหมุนต่อไปได้อย่างมีพลวัต . ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th   

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อภิมหาเศรษฐีแห่งแดนมังกร – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related