ผมพูดถึงปัญหาที่มีแรงงานไอทีไม่เพียงพอในไทย ทั้ง ๆ ที่มีคนเรียนจบคอมพิวเตอร์มาปีละจำนวนมาก  ( เป็นหมื่นคน ที่ในปริญญามีคำว่าคอมพิวเตอร์อยู่ ) และเสนอมุมมองว่า  เกิดจากแรงงานมีทักษะไม่เพียงพอ  ส่วนหนึ่งเกิดจากการผิดคาดของผู้เรียน  จากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งผมจบไว้ตรงคำว่า “ผิดคาด” นั้น เกิดจากความคาดหวัง เป็นความคาดหวังของผู้เรียนกับตลาดแรงงานไม่ตรงกัน ความคาดหวังของอุตสาหกรรมกับสถานศึกษาก็ไม่ตรงกัน ผู้เรียนเลือกเรียนคอมพิวเตอร์ เพราะ “ชอบใช้” เช่น ชอบเล่นเกม ใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน จึงอยากเรียนคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ผู้เรียนไม่ทราบว่า แรงงานคอมพิวเตอร์นั้นต้องทำอะไรบ้าง ต้องฝึกทักษะยาวนาน เขียนโปรแกรมให้เก่งต้องใช้เวลา 10 ปี ไม่ใช่ 10 วัน อย่างที่หนังสือสอนหลายเล่มตั้งหัวเรื่องไว้ ต้องเรียนคณิตศาสตร์ที่อาจเป็นยาขม ส่วนอุตสาหกรรมคาดหวังว่า เมื่อเรียนจบก็ควรทำงานได้ทันที เป็นเรื่องพื้น ๆ ที่ผมกล่าวไป เช่น การลงซอฟต์แวร์ในเครื่อง การติดตั้งเครื่องพิมพ์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ฯลฯ (อาจไม่เหมือนที่ยกตัวอย่าง แต่อยู่ในกลุ่มงานลักษณะอย่างนี้) สถานศึกษาปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไม่ทัน ไม่ว่าในเชิงชนิดของทักษะ และที่ซ้ำร้าย คือ ผลิตคนออกมาปริมาณไม่เพียงพอ ฟังปัญหามาเยอะ อย่าเพิ่งท้อนะครับ เมื่อเราเข้าใจปัญหาย่อมมีทางแก้ไข ผมขอเสนอทางแก้ไขจากมุมมองสถานศึกษานะครับ เพราะเราเป็นผู้ผลิตแรงงานโดยตรง ต้องปรับความคาดหวังให้ตรงกันครับ เช่น อุตสาหกรรม ต้องการแรงงานที่พร้อมใช้เมื่อเรียนจบ สถานศึกษาก็ต้องปรับตัว เช่น ปรับสัดส่วนการเรียนระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติให้เหมะสม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถจบไปทำงานได้ จัดสภาพการเรียนรู้ให้เข้าใจธุรกิจมากขึ้น กลไกอย่างหนึ่งที่ได้ผลดี คือ ส่งไปทำงานสัก 2-3 เดือนสถานประกอบการจริง (ที่เรียกว่า ทำวิสาหกิจ) ในหลักสูตรคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้เรียนมีพื้นฐานความรู้ไม่พอ ควรมีการสอนปรับความรู้เฉพาะที่ต้องใช้ในวิชาเรียนให้พอเพียงที่เรียนได้ แล้วทำได้ด้วย ผู้เรียนเองต้องถูกฝึกให้ “เรียนเป็น” คือ เรียนด้วยตนเองเป็น แล้วลองทำดู ถูกผิดให้ถามครู แล้วนำมาปรับปรุงจนสามารถวิเคราะห์ปัญหา และสังเคราะห์วิธีการได้ นี่เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอาชีพนี้ ผู้ประกอบการมีความคาดหวังในเรื่องทักษะบางอย่าง ซึ่งในปริญญาหลักสูตรคอมพิวเตอร์ทั้งหลายไม่ได้บ่งบอกไว้ ก็อาจร่วมมือกันทำใบรับรองความรู้เฉพาะด้าน (เช่น Certificate) เป็นเป้าหมายให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน มุ่งเป้าการเรียนที่วัดผลได้ชัดเจน  (คล้าย ๆ กับใบประกอบวิชาชีพของวิศวกร หรือที่เรียกว่าใบ กว.) อันนี้ในหลายบริษัทก็มีอยู่แล้ว ผมขอเกริ่นประเด็นการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ โดยคร่าว ๆ ไว้เพียงแค่นี้ เนื้อหาที่ผมเอามาเล่าให้ฟังเกิดจากการสัมมนา “อนาคตของการศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์” ที่ผมและอาจารย์ภุชงค์ อุทโยภาศ ประสานงานระดมสมอง จากหลายภาคส่วน เช่น บริษัทเอกชนไมโครซอฟต์ ไอบีเอ็ม สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ภาครัฐก็มี SIPA และสมาคมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ได้ รวมไปถึงอาจารย์ที่สนใจจากทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน พวกเราไปคุยกันที่งานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จัดที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้ครับ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ตั้งใจออกความคิดและความเห็น (โดยเฉพาะคุณธนชาติ นุ่มนนท์) และเจ้าภาพ คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้เราไปชุมนุมกัน  จบประเด็นเรื่องเรียนคอมพิวเตอร์แล้ว  สัปดาห์นี้มีคนพูดคุยกันถึงการพัฒนาการศึกษา  ส่วนหนึ่งนักเรียนถามว่าเรียนกันหนักหนาไปทำไม หลาย ๆ อย่างไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง  ผมขอร่วมวงออกความเห็นด้วยคนหนึ่ง   พูดกันถึงเรื่องเรียนมหาวิทยาลัย ความเชื่อเดิม ๆ คือเป็นการแข่งขันกันให้ได้ที่เรียน ให้ได้แผนกที่ตัวเองอยากเรียน และการแข่งขันนี้ จำเป็น และยากเย็น ทำให้เด็กจำนวนมากไม่ได้เรียนที่ตนเองชอบ และไม่อยากเรียน อย่างแรก ปัจจุบันนี้ที่เรียนในมหาวิทยาลัย มีมากกว่าจำนวนคนสมัคร ครับท่านอาจไม่เชื่อ แต่ เป็นเช่นนั้นจริง อย่างที่สอง อยากเรียนอะไร ก็มีที่ให้เรียนทั้งนั้น ไม่ว่าจะเหมาะสมกับความสามารถของตน หรือไม่ เดี๋ยวนี้ไม่มีเกณฑ์อะไรเข้มงวด แล้วที่แย่งชิงกันแทบตายคืออะไร คือต้องการเข้ามหาวิทยาลัยยอดนิยมครับ เมื่อความต้องการมีมากกว่าที่นั่งที่มี ย่อมหลีกเลี่ยงการแข่งขันไม่ได้ ลองคิดดู ถ้าทุกแห่ง ใช้การจับสลากเข้า การแข่งขันจะเหลือศูนย์ เด็กไม่ชอบเรียน ก็แก้ได้ โดยยอมให้ย้ายคณะได้ง่าย ๆ ไม่ต้องออกมาซิ่ว เสียเวลาหนึ่งปี ที่ยากกว่า คือ พัฒนาคุณภาพการสอน และใช้ทรัพยากรส่วนรวมให้เกิดประโยชน์ เช่น มีข่าวว่า เด็กจบคอมพ์ เขียนโปรแกรมไม่ได้ ถ้าเป็นเพราะครู ต้องรีบปรับปรุง ถ้าเป็นเพราะเด็กไม่อยากเรียน ต้องรีบแนะแนว และที่สำคัญ เรียนไปแล้วไม่ประกอบอาชีพนั้น รัฐไม่ควรสนับสนุน เพราะเสียเปล่า ให้จ่ายเอง เป็นต้น. ศ.ดร.ประภาส จงสถิตวัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เรียนจบคอมพ์แล้วเขียนโปรแกรมไม่ได้ (2) – 1001

Posts related