คุณผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์วันพุธของผมเป็นประจำคงจะคุ้นหูคุ้นตากับคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ดีใช่ไหมครับ ว่าเป็นลักษณะของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ และเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ รุ่นพี่รุ่นเดอะของผมที่เซนต์คาเบรียล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจก็ได้พูดถึงคำว่านโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ขึ้นมา โดยเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะใช้พื้นฐานของโลกดิจิตอล โลกอินเตอร์เน็ต โลกโซเชียลมีเดีย โลกอีคอมเมิร์ซ รวมถึงโลกเอ็มคอมเมิร์ซ เป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต คำว่าเศรษฐกิจดิจิตอลนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยนาย Don Tapscott ผู้แต่งหนังสือเรื่อง The Digital Economy และถูกใช้ต่อ ๆ กันมาอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในแวดวงวิชาการเทคโนโลยีหรือแม้แต่ในสุนทรพจน์ของบรรดาผู้นำในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รายงานวิจัยของสถาบันแมคคินซีได้ระบุไว้ว่า ในปีค.ศ. 2009 มูลค่ารวมของเศรษฐกิจดิจิตอลทั่วทั้งโลกมีจำนวนมากถึง 1.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ว่าง่าย ๆ ก็คือใหญ่กว่าเศรษฐกิจของประเทศแคนาดา ณ ขณะนั้นเสียอีก แต่ถ้ามานับกันใหม่ที่ปีนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ แค่การขายหุ้น IPO ของบริษัทอีคอมเมิร์ซน้องใหม่อย่างอาลีบาบาที่เปิดตัวมาได้แค่ 15 ปี รวมกับมูลค่าของบริษัทที่ชื่อคุ้นหูกันดีอย่างไมโครซอฟท์ กูเกิล ยาฮู มาจนถึง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ หรือแม้แต่แอปเปิล อะเมซอน อีเบย์ ไอบีเอ็ม ไปจนถึง กรี ซัมซุง ไป่ตู้ เทนเซ็นต์ เพียงแค่บริษัทที่ผมยกตัวอย่างมา 15 บริษัทนี้ ตัวเลขของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิตอลก็ใหญ่เบิ้มล้ำหน้า GDP หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของทุกประเทศในอาเซียนบวกรวมกันแล้วล่ะครับ การที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายที่จะวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิตอลในประเทศไทยนั้น ส่วนตัวแล้วผมเชื่อนะครับว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยเฉพาะถ้าอ้างอิงจากตัวเลขอันมหาศาลของเศรษฐกิจดิจิตอลในบริบทของสังคมโลกด้วยแล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากจะเห็นมากกว่าแค่เศรษฐกิจดิจิตอล ก็คือ เศรษฐกิจดิจิตอลสร้างสรรค์ (Creative-Digital Economy) ครับ ไม่ใช่แค่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ไอที และ ระบบสารสนเทศมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ แต่ควรจะรวมถึงการเปิดกว้างต่อพลวัตความเปลี่ยนแปลง การให้โอกาสกับแนวคิดใหม่ ๆ และการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเพื่อสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นของประเทศเราเองด้วย หากเทียบในภาพรวมของสังคมดิจิตอลทั่วโลกหรือแม้แต่เฉพาะในสิบประเทศอาเซียนก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายนะครับว่าไทยเรายังถือว่าค่อนข้าง “ช้า” เกินไป โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอลที่ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่นัก ไหนจะโครงข่ายที่ไม่ครอบคลุม คลื่นสัญญาณที่ใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนถ่ายจากอนาล็อกไปดิจิตอลที่ยังคงคาราคาซัง แต่มันก็ยังไม่สายเกินไปนะครับ ถ้าถือโอกาสของนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาลนี้ทำให้โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลของประเทศเข้มแข็งขึ้นมา และใช้ไอเดียสร้างสรรค์ของคนไทยเราเป็นไอพ่นเสริมแรงดัน ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจดิจิตอลสร้างสรรค์นี้จะสามารถพาประเทศเราให้ตีตื้นขึ้นมาคู่คี่สูสีกับประเทศอื่น ๆ ในเวทีโลกได้ . ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th     

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เศรษฐกิจดิจิตอลสร้างสรรค์ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related