นายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองที่มีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  ในเดือนมี.ค.ว่า จากการสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. มีผู้ประกอบการตอบแบบสอบถามกลับมาจำนวน 146 ราย ผู้แบ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในภาคการค้า 55 ราย ภาคบริการ 38 ราย และภาคการผลิต 53 ราย พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี 76% ได้รับผลกระทบทางลบจากความขัดแย้งทางการเมือง ลดลงจากเดือนก.พ. 57 ที่มีสัดส่วน 85% ทั้งนี้เมื่อแยกตามระดับความรุนแรงของผลกระทบ พบว่า เดือนมี.ค. ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบมากมีสัดส่วน 42% ลดลงจากเดือนก.พ.ที่มีสัดส่วน 56% ได้รับผลกระทบปานกลาง 22% ลดลงจากเดือนก.พ.ที่ได้รับผลกระทบ 25%  และได้รับผลกระทบน้อยมีสัดส่วน 12% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.ที่มีสัดส่วน 4% โดยจากข้อมูลดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง แต่ความรุนแรงของผลกระทบที่ได้รับลดน้อยลง “ภาพรวม พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีการปรับตัวต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว ด้วยการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมากที่สุด เพื่อกระตุ้นยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยการขายสินค้าที่ได้กำไรสูง เพิ่มชนิดของสินค้าลงทุนด้านโฆษณาและส่งเสริมการขายเพิ่มมากขึ้น รองลงมาคือ การลดค่าใช้จ่ายและการปรับกระบวนการทำงาน” สำหรับผลกระทบที่ผู้ประกอบการ ได้รับคือ ยอดขาย และจำนวนลูกค้าที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจภาคบริการเริ่มมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศ แต่สถานการณ์ SMEs ในทุกประเภทมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และมีเอสเอ็มอี ที่ไม่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นโดยมีสัดส่วน 24%เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อรายได้ต่อเดือนเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติ พบว่า ในเดือนมี.ค.ภาพรวมมีรายได้เฉลี่ยลดลง 42% ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. ที่ลดลงเฉลี่ย 50% โดยเฉพาะธุรกิจภาคการผลิต ในกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีการลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท หรือธุรกิจรายย่อย นับเป็นกลุ่มที่สถานการณ์ดีขึ้นมาก เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสำหรับเดือนมี.ค. ที่ลดลง 44% นั้น นับว่าดีขึ้นกว่าช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. ที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลง 51% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่กว่ายังคงทรงตัว ส่วนภาวะการค้าขายประจำเดือน มี.ค. จากการสำรวจกลุ่มผู้ประกอบการค้าตลาดนัดจตุจักร พบว่า การชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ดังกล่าว สูญเสียโอกาสทางธุรกิจเฉลี่ยประมาณ 50% เทียบกับสถานการณ์ปกติ โดยเมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ผลกระทบมากที่สุดคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ลดลงถึง 70%รองลงมาได้แก่ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ลดลง50% และการค้าส่งภายในประเทศ รวมทั้งการค้าปลีกลดลง 40%   

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอสเอ็มอีปรับตัวรับการเมือง

Posts related