การเตรียมตัวนำเสนอเป็นเรื่องสำคัญของการนำเสนอทุกครั้ง วันนี้ ผมจึงขอแนะนำกฎสามข้อของการเตรียมนำเสนอซึ่งผมเรียนรู้จากประสบการณ์ส่วนตัว หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กฎ 3 ต กฎสามข้อนี้นำไปประยุกต์ได้กับทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพูดในสาธารณะ เช่น การนำเสนอการสอน การบรรยาย รวมถึงการเรียน การสอบ เป็นต้น 1. ตรงเวลา ไม่มีสิ่งใดแย่ไปกว่าผู้นำเสนอมาสาย วิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาในห้อง เหงื่อท่วมตัว และลุกลี้ลุกลนเปิดคอมพิวเตอร์ ในระหว่างที่ผู้ฟังหลายสิบคนกำลังจ้องมองอยู่ ผู้อ่านในกรุงเทพฯ คงทราบดีว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ ใช้เวลานานกว่าที่คิด อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันซึ่งทำให้เสียเวลาเดินทางอีกครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง เราจึงควรออกจากบ้านเร็วขึ้น เพื่อไปถึงสถานที่นัดหมายก่อนเวลา ดังนั้นการเดินทางไปถึงสถานที่นำเสนอตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากครับ ผมมีคติประจำตัวว่า “ไปก่อนหนึ่งชั่วโมง ดีกว่าไปช้าหนึ่งนาที”  ถ้าเราเดินทางไปถึงสถานที่ก่อนเวลา ก็จะทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวทดสอบคอมพิวเตอร์ โปรเจคเตอร์ เครื่องเสียง การจัดโต๊ะ และยังมีเวลานั่งจิบกาแฟคอยผู้ฟังอีกด้วยโดยไม่ต้องกระหืดกระหอบ นอกจากไปถึงสถานที่ก่อนเวลาแล้ว ผู้นำเสนอที่ดีควรเลิกตรงเวลาด้วยครับ ถ้าผู้จัดงานมีเวลาให้นำเสนอ 30 นาที ก็ควรเลิกก่อนเวลาเล็กน้อย เช่น ใช้เวลานำเสนอเพียง 25 นาทีหรืออย่างมากก็ 30 นาทีเต็ม แต่อย่าเกินเวลาเด็ดขาด เพราะถ้ามีผู้นำเสนอคนอื่นถัดจากเรา ก็จะมีผลกระทบต่อคนอื่นด้วย หรือถ้าจัดอบรมหรือสัมมนาในโรงแรม ผมจะให้ผู้เรียนหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันเวลา 11.30 – 11.45 น. แต่จะไม่พักเวลาเที่ยงตรง เพราะอาหารกลางวันของโรงแรมส่วนใหญ่เป็นบุฟเฟ่ต์ ถ้าเราเลิกก่อนเวลา ผู้อบรมก็จะมีเวลารับประทานอาหารกลางวันอย่างสบายโดยไม่ต้องแย่งกับผู้อื่นครับ แต่ถ้าเราคิดเหมือนคนอื่นด้วยการหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันเที่ยงตรง ทุกคนก็จะออกมาเบียดเสียดรับประทานอาหารกลางวันพร้อมกันครับ 2. เตรียมใจ เวลานำเสนอหรือสอนเรื่องใดเป็นครั้งแรก ทุกคนจะตื่นเต้นหรือประหม่าเสมอ ดังนั้นวิธีดีที่สุดในการควบคุมอารมณ์ตนเองคือการฝึกซ้อมครับ ถ้าการนำเสนอเรื่องนั้นสำคัญมาก ก็ควรฝึกพูดราวกับว่าอยู่ในสถานการณ์จริง เมื่อเรานำเสนอจริง ก็จะไม่ตื่นเต้นอีกต่อไป เพราะได้ฝึกซ้อมมาหลายครั้งแล้ว  การนำเสนอสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนต้องเตรียมตัวคือ การเตรียมสอบวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก ซึ่งเป็นการตัดสินชี้ชะตาของผู้สอบครับ ในทางตรงกันข้าม ครู อาจารย์ วิทยากรหรือผู้นำเสนอที่พูดเรื่องเดิมซ้ำมาร้อยครั้งแล้ว ก็ควรเปลี่ยนแปลงรูปแบบนำเสนอของตนเองไม่ให้ซ้ำซากจำเจ เช่น ถ้ามักนำเสนอด้วยพาวเวอร์พอยต์ ก็อาจลองเปลี่ยนเป็นนำเสนอด้วยกระดานไวท์บอร์ดหรือไอแพด ก็จะไม่เบื่อและรู้สึกท้าทายครับ หรืออาจลองเปลี่ยนรูปแบบเนื้อหา ด้วยการยกตัวอย่างทันสมัยมากขึ้น มีเรื่องเล่าใหม่หรือข้อมูลใหม่ที่แตกต่างจากเดิมครับ สรุปกฎข้อนี้คือ ถ้านำเสนอเป็นครั้งแรก ต้องทำใจเหมือนกับว่านำเสนอเรื่องนี้มาร้อยครั้ง ถ้านำเสนอมาร้อยครั้ง ต้องทำใจราวกับว่า นำเสนอเรื่องนี้เป็นครั้งแรก 3. เตรียมพร้อม ผู้อ่านเคยได้ยินคำว่าแพลนบี (plan b) ไหมครับ แพลนบีคือแผนสำรองในกรณีฉุกเฉินนั่นเอง การนำเสนอที่สำคัญทุกครั้งต้องมีแพลนบีเสมอ ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่ผมนำเสนอด้วยพาวเวอร์พอยต์ในสถานที่นอกมหาวิทยาลัย ผมจะเตรียมโน้ตบุ๊กส่วนตัว บันทึกไฟล์พาวเวอร์พอยต์ในสามแห่งคือ โน้ตบุ๊กของตนเอง ทัมบ์ไดร์ฟ และส่งไฟล์ขึ้น Dropbox  รวมทั้งแจ้งให้ผู้จัดงานเตรียมโน้ตบุ๊กสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นกับไฟล์หรือคอมพิวเตอร์ของผม อย่างน้อยที่สุด ผมก็ยังเข้าถึงไฟล์ของตนเองได้และยังใช้โน้ตบุ๊กได้ครับ มีวิทยากรระดับประเทศคนหนึ่งเล่าว่า ในขณะสอนนั้น ไฟโรงแรมดับ แต่วิทยากรท่านนั้นมีเทียนไข ก็จุดไฟเทียนไขแล้วสอนต่อทันที  นี่คือการเตรียมพร้อมขั้นเทพครับ! สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ ความไม่แน่นอน ทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ผมเชื่อว่า ถ้าผู้อ่านลองนำกฎสามข้อของการเตรียมนำเสนอไปใช้ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพูด การนำเสนอ การบรรยาย หรือการสอบ  ก็ช่วยลดโอกาสของความผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุดและผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยอารมณ์แจ่มใสครับ. ธงชัย โรจน์กังสดาล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Thongchai.R@chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กฎสามข้อของการเตรียมนำเสนอ – 1001

Posts related