นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า เดือน ก.พ. 57 มีจำนวนโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่ 312 แห่ง ลดลง 9.83% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากนักลงทุนรอความชัดเจนจากสถานการณ์การเมือง เพราะเกรงว่า หากลงทุนใหม่แล้ว จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามเป้าหมาย  และอีกส่วนหนึ่งเป็นโครงการมูลค่า 200 ล้านบาทขึ้นไป อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ในการพิจารณาให้บัตรส่งเสริมการลงทุนก่อนจะตั้งโรงงานจริง  ส่วนเงินทุนมีจำนวน 27,159.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.08% เนื่องจากมีการลงทุนของอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  (โซลาร์ฟาร์ม) ซึ่งแต่ละโครงการมีมูลค่าสูงหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป “หากพิจารณาภาพรวมจะพบว่าการนักลงทุนทั้งรายใหญ่ และรายย่อย น่าจะชะลอการลงทุนออกไปก่อน เพราะยอดการตั้งและขยายกิจการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เพราะรอดูความชัดเจนทางการเมืองเนื่องจากต้องการให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ และรอเรื่องบีโอไอ” สำหรับจำนวนขยายกิจการอยู่ที่ 30 แห่ง ลดลง 45.45% จ้างงานใหม่ 2,880 คน เพิ่มขึ้น 104.69% ขณะที่จำนวนเลิกกิจการอยู่ที่ 21 แห่ง ลดลง 67.69%  เลิกจ้างงาน 539 คน ลดลง 67%  คิดเป็นเงินทุน 144.41 ล้านบาท ลดลง 91.17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1,635.93 ล้านบาท  ส่วนการประกอบกิจการใหม่ในภาคเหนือ มีจำนวน 25 แห่ง ลดลง 45.65 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 59 แห่ง ลดลง16.90 % ภาคตะวันออก 49 แห่ง เพิ่มขึ้น 16.67% ภาคตะวันตก 20 แห่ง เพิ่มขึ้น 5.26 % ภาคใต้ 28 แห่ง ลดลง 39.13 % ส่วนช่วง 2 เดือนของปีนี้ (ม.ค. – ก.พ.  57) พบว่า จำนวนโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่ รวม 635 แห่ง ลดลง 7.68% จ้างงานใหม่ 13,834 คน เพิ่มขึ้น 5.72% เงินทุน 37,251.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.18% ขณะที่จำนวนขยายกิจการช่วง 2 เดือนอยู่ที่ 63 แห่ง ลดลง 37.62% จ้างงาน 4,859 คน ลดลง 61.41% เงินทุน 8,258.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.71%  และเลิกกิจการช่วง 2 เดือน 111 แห่ง ลดลง 40% เลิกจ้างงาน 7,370 คน ลดลง 7.73% และเงินทุน 1,364.65 ล้านบาท ลดลง 46.13%  นายณัฐพล กล่าวว่า แนวโน้มการประกอบการกิจการใหม่ของโรงงานทั้งปี 57 หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย และยุติได้ภายในกลางปีนี้ เชื่อว่า แนวโน้มการขอประกอบกิจการใหม่ของทั้งปีจะอยู่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาประมาณ 14.17 %  เนื่องจากช่วงปลายปี ผู้ประกอบการจะขอประกอบกิจการอย่างก้าวกระโดด เพราะมีการชะลอในช่วงต้นปี  แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่คลี่คลายจบภายในกลางปีนี้ เชื่อว่า ยอดการประกอบการกิจการโรงงานใหม่ จะลดลงต่อเนื่อง ส่วนจะลดลงถึงขนาดติดลบหรือไม่นั้น จะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่า จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะลดลงลงมาก อย่างไรก็ตามผลจากการที่กรอ.ถูกปิดทำให้มีปัญหาในการรับส่งเอกสารระหว่างส่วนกลางกับต่างจังหวัด รวมทั้งการติดต่อกับผู้ประกอบการ ทำให้ใช้เวลาในการทำงานที่นานขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งมีเรื่องขออนุญาตใบประกอบการกิจการ (รง.4) ที่รอพิจารณาในคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการขนาดใหญ่ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน รวม 22 โครงการ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการพิจารณาเอกสารตามกฎหมาย ไม่ได้มาจากความล่าช้าของคณะกรรมการกลั่นกรองฯเพราะพิจารณาที่เสนอเข้ามาหมดแล้ว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กรอ.เผยยอดขอตั้งโรงงานทรุดฮวบ

Posts related