ผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรและสารเคมีจากอดีต ส่งผลอย่างชัดเจนต่อโลกในปัจจุบัน การตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม จึงกลายเป็นแนวโน้มของการพัฒนาในเกือบทุกภาคอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่นับวันการแข่งขันในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้นทุกที การวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ด้วยแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อม จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างจุดต่าง และหาจุดขายให้กับสินค้าของตนเอง “พิชญ์ เหล่าศรีศักดากุล” ผู้จัดการ ฝ่ายส่งออก บริษัทหลิวเดอแซค จำกัด เจ้า ของผลงานกระเป๋าใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากเส้นใยเทนเซล ที่ผลิตจากเปลือกต้นยูคาลิปตัส 1 ใน 12 บริษัทที่ได้รับการสนับสนุนในโครงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ บอกว่า ต้นแบบนี้เป็นการเพิ่มจุดเด่นให้กับสินค้าเดิมของบริษัทที่ส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าสินค้าไอที และส่งเสริมให้คนรักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยต้นแบบที่ทำออกมา สามารถที่จะเปลี่ยนแนวคิดที่ว่าสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อม หรือกรีน โพรดักซ์ มักจะมีสีเขียว ทึม ๆ หรือเชย ๆ แต่นี่เป็นภาพลักษณ์ใหม่ ที่บริษัทร่วมมือกับสถาบันสิ่งทอฯ ในการเลือกผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ หรือเส้นใยเทนเซล ที่ทำมาจากเปลือกต้นยูคาลิปตัส หรือเปลือกต้นสนมาสร้างไลฟ์สไตล์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ด้าน “พินิจ พิสิฐโภคิน” กรรมการผู้จัดการบริษัท วิชั่นเท็กซ์ จำกัด เจ้าของต้นแบบเสื้อยืดจากเส้นใยไผ่ บอกว่า 20 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการทำวิจัยและพัฒนา ควบคู่ไปกับการผลิตสินค้ามาโดยตลอด โดยผลิตภัณฑ์หลักของโรงงานก็คือ ผ้าผืน ซึ่งต้นแบบที่นำมาเข้าร่วมโครงการนี้ ก็คือ ผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ใยไผ่ และนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อยืดคอลเลกชั่นรักษ์โลกที่สวมใส่สบาย นอกจากนี้บริษัทยังมีการนำเส้นใยพิเศษ จากบริษัทคู่ค้า ซึ่งเป็นการผลิตเส้นใยในระดับนาโนเทคโนโลยีผสมกับใยไหม ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมผ้ารักษาอุณหภูมิ กันแสงยูวี ป้องกันแบคทีเรีย และคุณสมบัติใส่สบายเหมือนผ้าไหม แต่ราคาถูกกว่าถึง 3 เท่า คุณพินิจ บอกว่า การสร้างนวัต กรรม หรือทำให้ผู้บริโภคตอบรับกับสินค้าแนวใหม่ ๆ จะต้องให้กำลังใจตนเอง เพราะเป็น การก้าวไปก่อนตลาด แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะเป็นการสร้างเอกลักษณ์ และเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าของตนเอง และทำให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต อย่างไรก็ดีในโครงการดังกล่าว ยังมีการนำเสนอต้นแบบนวัตกรรมสิ่งทอจากธรรมชาติ จากผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ อาทิ หมวกปีกกว้างทอจากเส้นใยกล้วยผสมฝ้าย เสื้อผ้าจากเส้นใยบัวผสมฝ้าย ชุดชั้นในที่มีแถบยางยืดจากเส้นด้ายซึ่งมาจากเส้นใยเซลลูโลสของเปลือกยูคาลิปตัส และพรมถักจากเส้นด้ายวิสโคสซึ่งได้จากเปลือกต้นสน นี่แค่แนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสิ่งทอไทยสามารถแข่งขันได้ และพร้อมที่จะก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมของภูมิภาคอาเซียนในปี 2558 ส่วนจะให้ยั่งยืนนั้น การวิจัยและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ก็คือคำตอบ.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กระเป๋าเก็ดเจ็ตไอทีจากเปลือกยูคาลิปตัส

Posts related