“เราจะเดินหน้าเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อเชื่อมประเทศ ไทย และตลาดทุนไทยสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) หรือเป็นเมืองหลวงด้านตลาดทุนในอาเซียน” นี่คือยุทธศาสตร์หลักและความมุ่งมั่นที่จะพาตลาดทุนไทยไปให้ถึงฝั่งฝันและอยู่ในเรดาร์นักลงทุนทั่วโลก ของ “วรพล  โสคติยานุรักษ์” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่การที่จะผลักดันให้ตลาดทุนไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางการลงทุนในอาเซียนนั้น  คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงไม่ไกลเกินเอื้อมมากนัก เนื่องจากขณะนี้ ก.ล.ต. ได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ ด้วยการทำข้อตกลงภายใต้การแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน ทั้งประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพราะทุกวันนี้ทั้ง 2 ประเทศ  ต่างต้องการใช้ไทยเป็นฐานในการขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่น ๆ เป็นผลจากภูมิประเทศของไทยที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อในหลายประเทศอย่าง ลาว เมียนมาร์เมื่อเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว จากนั้นก.ล.ต. ก็จะส่งเสริมให้ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ของไทยไปทำธุรกิจ หรือนำผลิตภัณฑ์ตราสารทุนต่าง ๆ เช่น กองทุน ที่มีอยู่ไปขายให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมให้บล. และบลจ.ของญี่ปุ่นเข้ามาสร้างฐานการทำธุรกิจในไทยด้วย แต่ในการขายกองทุนจะต้องขายผ่านบริษัทของคนไทยเท่านั้น ในส่วนของเกาหลี ก็ได้ทำข้อตกลงแบบทวิภาคีร่วมกันไปแล้ว หลังจากที่เกาหลีใต้ต้องการใช้ไทยเป็นฐานขยายธุรกิจการเงินเข้ามายังไทยมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ก็เป็นที่รู้จักและคุ้ยเคยกับคนไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้  ก.ล.ต.ได้ออกเกณฑ์ร่วมกันในอาเซียนกับ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อเปิดทางให้สิงคโปร์และมาเลเซีย สามารถนำกองทุนรวมมาขายให้กับนักลงทุนไทยได้ รวมถึงให้ไทยนำกองทุนรวมไปขายในประเทศดังกล่าวได้ แต่มีเงื่อนไขว่ารูปแบบของกองทุนจะต้องไม่ซับซ้อน โดยเป็นกองทุนที่เข้าใจง่าย ตลอดจนมีการกระจายการลงทุนพอสมควร ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีกองทุนต่าง ๆ เข้ามาเสนอขายจำนวนมาก “ความร่วมมือกับต่างประเทศที่เกิดขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่าต่อไปธุรกิจกองทุนรวมจะมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะหันมาซื้อกองทุนรวม เพราะมีผู้บริหารมืออาชีพคอยดูแลให้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ บล. และ บลจ. เติบโตขึ้น และเมื่อตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่ ยิ่งจะทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น และตรงกันข้ามหากตลาดทุนไทยยิ่งน้อย คนก็ยิ่งไป” ขณะเดียวกันในส่วนของบริษัทข้ามชาติที่สนใจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น ก็สามารถทำได้สะดวกมากขึ้น เพราะ คณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้อนุมัติเกณฑ์การรับบริษัทจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นแห่งแรกแล้ว เพื่อให้บริษัทที่อยู่ต่างประเทศสามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ ซึ่งเป็นเหมือนการที่บริษัทของไทยจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศเพื่อบังคับใช้เกณฑ์อย่างเป็นทางการเท่านั้น    เลขาธิการ ก.ล.ต.ยังย้ำด้วยว่า ขณะนี้ไม่ได้มองเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่จะมีการจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว แต่มองกว้างไปทั่วโลก โดยให้เกณฑ์ต่าง ๆ เปิดกว้างจากเดิมมากขึ้น เช่น จากเดิมที่บริษัทขนาดกลางและเล็กของจีน จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยต้องใช้เกณฑ์ โฮลดิ้งคอมพานี หรือการรับบริษัทที่มีธุรกิจหลักในต่างประเทศเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบันบริษัทเหล่านั้นสามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้โดยตรง โดยเบื้องต้นเราอาจจะเน้นในประเทศกลุ่มที่ใกล้กับประเทศ ไทยก่อน เช่น กัมพูชา เมียนมาร์ จีนตอนใต้ที่ติดกับไทย 4-5 มณฑล รวมไปถึงเกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินหรือบล. หลายแห่ง ได้เข้าไปตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา หรือเมียนมาร์ และเตรียมที่จะนำบริษัทที่ประกอบธุรกิจในประเทศนั้นเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดแรก เนื่องจากต้องการเงินระดมทุนในการขยายงานหรือกิจการเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในลาว เมียนมาร์  จีน เวียดนามที่มีศักยภาพเข้าตลาดหุ้นไทยเป็นหลักร้อยหลักพันบริษัท ดังนั้น ในปีนี้น่าจะเห็นบริษัทต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ทั้งหมดนี้คงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ก.ล.ต.จะเป็นแรงขับเคลื่อนและปูพรม ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงด้านตลาดทุนในอาเซียน ซึ่งหากวันนั้นมาถึงเมื่อใด บรรดาผู้ประกอบการคงต้องตั้งรับให้ดี เพราะอาจทำให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามนักลงทุนก็จะมีทางเลือกในการช้อป การหากำไรจากการลงทุนมากขึ้น แต่อย่าลืมว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงที่พ่วงติดตัวมาด้วย ดังนั้น ต้องศึกษาข้อมูลให้ดี และเลือกลงทุนด้วยความระมัดระวัง. ขวัญหทัย แนวหล้า

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กลต.เดินหน้าผนึกพันธมิตรนอกดันไทยขึ้นแท่นฮับลงทุนอาเซียน

Posts related