ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นร้อยละ 0.25 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอ้างถึงอัตราเงินเฟ้อ ที่ต่ำต่อเนื่องในการตัดสินใจดังกล่าว ทั้งนี้ ธนาคารกลางยุโรปคงจะมีความกังวลว่า หากปล่อยไว้จนกลายเป็นภาวะเงินฝืดเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นแล้ว ก็อาจจะยากที่จะแก้ไขในภายหลัง ขณะที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป เพิ่งจะปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน ในปี 2557 ลงเป็นร้อยละ 1.1 และปรับเพิ่มประมาณการอัตราการว่างงานเป็นร้อยละ 12.2 ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร น่าที่จะสามารถขยายตัวในแดนบวกได้ในปีหน้า จากที่ติดลบประมาณร้อยละ 0.4 ในปี 2556 แต่อัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า การฟื้นตัวของกลุ่มยูโรโซนเพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น หนทางข้างหน้านั้นยังคงอีกยาวไกล ประเด็นสำคัญคือ กลุ่มยูโรโซนจะต้องดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความแข็ง แกร่ง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำอีก โดยการปฏิรูปที่สำคัญ ๆ ที่ทางการยุโรปมีแผนจะดำเนินการ ได้แก่ การรวมศูนย์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน (Banking Union) และการควบคุมด้านการคลัง (Fiscal Union) เพื่อดูแลวินัยการคลังของรัฐบาลแต่ละประเทศ ไม่ใช้เงินเกินตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับกรณีของกรีซ นอกจากนี้ ยังคงมีโจทย์ด้านความสามารถในการแข่งขันของหลายประเทศอย่างเช่น อิตาลี, กรีซ, สเปน, โปรตุเกส ที่กำลังแรงงานมีผลิตภาพ (productivity) ค่อนข้างต่ำ ในด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินนั้น ธนาคารกลางยุโรปจะทำการประเมินฐานะความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ โดยการตรวจสอบดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจากวันนี้ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า ผลการประเมินดังกล่าวอาจจะทำให้ธนาคารในยูโรโซนบางแห่งต้องเพิ่มทุนกันอีกรอบ แต่ก็เป็นก้าวสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่น และลดความเสี่ยงที่สถาบันการเงินที่อ่อนแอ จะลากฐานะการคลังของประเทศให้ย่ำแย่ตามไปด้วย เหมือนกับที่เกิดขึ้นในวิกฤติครั้งที่ผ่านมา ส่วนการควบคุมด้านการคลังนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มมีฐานะทางการคลังเป็นที่ยอมรับของตลาดเงิน ตลาดทุน ทั้งในด้านของดุลงบประมาณ และระดับหนี้สาธารณะ จนสามารถออกไประดมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง โดยไม่เป็นภาระแก่ทางการยุโรปเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากจะให้การรวมศูนย์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน และการควบคุมทางการคลังดังกล่าวสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนคงจะต้องยอมอยู่ในกรอบ ระเบียบ กติกาต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ต่างคนต่างเดินอย่างที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่วิกฤติครั้งที่ผ่านมา ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะนักการเมืองของประเทศสมาชิกคงอยากที่จะมีวาระของตนเองในประเด็นด้านการเงิน การคลังดังกล่าว ทำให้ในที่สุดแล้ว หากจะให้การปฏิรูปเดินหน้าได้จริง ประเทศสมาชิกคงจะต้องยอมเสียสละอิสรภาพบางส่วน โดยต้องยอมที่จะตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากทางการยุโรป เพื่อแลกกับความเชื่อถือไว้วางใจที่จะได้รับจากตลาดเงิน ตลาดทุน ส่วนประเด็นสุดท้ายในเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ (productivity)ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ที่ประสบปัญหาในด้านการแข่งขัน เช่น อิตาลี, กรีซ, สเปน, โปรตุเกส นั้น ผมมองว่าคงจะเป็นเรื่องยากไม่แพ้กัน เพราะภายใต้กรอบการใช้จ่ายทางการคลังที่จำกัดของกลุ่มยูโรโซน การจะเพิ่มความสามารถในด้านการแข่งขันให้แก่ประเทศ โดยทุ่มการลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ คงจะทำไม่ได้ จึงจะต้องหวังพึ่งการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เป็นหลัก เช่น การปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดต้นทุนแก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนการทบทวนบทบาทของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยอะไรที่ภาคเอกชนทำได้ดีกว่า ภาครัฐก็ควรจะต้องถอยออกมา ซึ่งน่าจะทำให้ภาครัฐมีภาระที่ลดลง เป็นต้น ผมคาดว่า ในการปฏิรูปประเด็นสำคัญ ๆ ดังกล่าว สมาชิกในกลุ่มยูโรโซน คงจะต้องใช้ความทุ่มเทและเวลาอีกไม่ต่ำ กว่า 3-5 ปีจากวันนี้ จึงจะพอเห็นผลเป็น รูปธรรม โดยหากระหว่างดำเนินการไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่มากระทบให้เสียขบวนแล้ว เศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนก็น่าที่จะแข็งแกร่งขึ้น จนอาจจะสามารถขึ้นมาทัดเทียมกับสหรัฐในด้านความเป็นผู้นำได้ แต่ทั้งนี้ประเทศสมาชิกทั้งหมดจะต้องยอมรับกติกา และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการฟันฝ่าอุปสรรคและความยากลำบากต่าง ๆ ที่ยังคงรออยู่ครับ. ดร. เชาว์ เก่งชน ck.at.kr@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กลุ่มยูโรโซน เส้นทางปฏิรูปยังคงอีกยาวไกล – โลกการเงิน

Posts related