วันนี้ (9ก.ค.) ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น ถนนราชประสงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กสทช.) ร่วมกับ International Institute of  Communications (IIC) ซึ่งเป็นสถาบันโทรคมนาคม จัดสัมมนาให้ความรู้วิชาการ Allocation of Spectrum – Does one size fit all ? เพื่อให้ความรู้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น การจัดสรรคลื่นความถี่ในระดับนานาชาติ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศไทย  นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เปิดเผยว่า ความคิดเห็นในการสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยหาแนวทางว่า คลื่นความถี่ใดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหาแนวคิด ข้อเสนอที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญไปใช้ในการปฎิรูปกติกาโทรคมนาคมของไทย รวมถึงการเร่งแก้ปรับปรุง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.)  โดยเบื้องต้นกสทช. เตรียมพิจารณาเรื่องเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. 2 มาตรา คือ ให้เงินรายได้ที่ได้รับจากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ทั้งฝั่งกิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมถึงฝั่งกิจการโทรคมนาคม เข้าสู่กระทรวงการคลังเพื่อให้เป็นรายได้ของรัฐ จากเดิมที่กำหนดให้ส่งเงินประมูลเฉพาะโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว และกฎหมายที่กำหนดให้คลื่นความถี่ต้องจัดสรรด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น โดยมีแนวคิดว่า สามารถจัดสรรในแบบบิวตี้คอนเทนต์ หรือ ผู้ประกอบการแข่งกันเสนอผลประโยชน์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีการตั้งราคกลางของคลื่นความถี่ที่จะจัดสรร และให้ผู้ประกอบการที่สนใจยื่นเสนอเปรียบเทียบได้  “การจัดสรรคลื่นความถี่รูปแบบการประมูล ไม่ใช่ไม่ดี แต่อาจจะมีปัญหาในอนาคตได้  เนื่องจากคลื่นบางชนิดก็ไม่เหมาะที่จะจัดสรรผ่านการประมูล อาทิ กิจการดาวเทียม สื่อสาร อีกทั้งประเทศไทยมีคลื่นความถี่จำนวนมากในขณะที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีศักยภาพในการแข่งขันมีจำนวนน้อยราย ประกอบกับกฎหมายไม่ได้เปิดให้ต่างชาติเข้าร่วมประมูล มีเฉพาะการร่วมทุนกันเท่านั้น ทำให้เกิดข้อจำกัดเป็นอย่างมาก ซึ่งหากมีการแก้กฎหมายให้มีความทันสมัยจะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้”นายสุทธิพล กล่าว  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กสทช.จัดเสวนาจัดสรรคลื่นเปิดทางใช้บิวตี้คอนเทนต์

Posts related