จนถึงวันนี้ ยังคงไม่มีคำยืนยันที่ ชัดเจนว่า สภาคองเกรสของสหรัฐและประธานาธิบดีโอบามา สามารถที่จะบรรลุข้อตกลงในเรื่องการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ หลังจากที่หน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐได้หยุดดำเนินการ (Government Shutdown) ไปแล้ว อันเป็นผลจากการที่สภาคองเกรส ไม่สามารถผ่านกฎหมายให้อำนาจการใช้เงินงบประมาณภายในสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยสำหรับประเด็นเพดานหนี้นั้น

กระทรวงการคลังสหรัฐ ได้เคยประเมินว่า มาตรการต่าง ๆ ที่นำออกมาใช้เพื่อช่วยยืดอายุเส้นตายเพดานหนี้นั้น อาจทำได้จนถึงวันที่ 17 ตุลาคมนี้เท่านั้น ขณะที่รัฐบาลมีกำหนดการชำระหนี้และรายจ่ายต่าง ๆ รออยู่ ซึ่งคงจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยด้วยรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เข้ามาตามปกติ ยกเว้นจะก่อหนี้ใหม่
 
แต่ก็ทำไม่ได้เนื่องจากติดประเด็นเพดานหนี้ ทำให้เมื่อถึงเวลานั้น หากสภาคองเกรส ยังคงไม่สามารถที่จะปรับเพิ่มเพดานหนี้แล้ว รัฐบาลสหรัฐก็จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงอาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ตลอดจนทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก ปั่นป่วนอย่างหนัก
 
ในขณะที่หากรัฐบาลสหรัฐพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ก็จำจะต้องตัดลดรายจ่ายลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเมินกันว่า อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
 
โดยทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ และการตัดลดงบประมาณรายจ่าย ที่ฝ่ายรีพับลิกันเรียกร้อง

อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่า เมื่อเส้นตายดังกล่าวใกล้มาถึง แรงกดดันจากประชาชนที่ไม่พอใจ คงจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมที่จะประนีประนอม ทำให้น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องเพดานหนี้และงบประมาณ และหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือ เป็นไปได้ว่าการประนีประนอมดังกล่าว อาจจะเป็นไปในลักษณะชั่วคราว คือ อาจจะต้องกลับมาเจรจากันใหม่ในอีกไม่นานนัก ทำให้ความไม่แน่นอนทางการคลัง อาจจะยังคงมีอยู่ต่อไป
 
ทั้งนี้สองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงที่ถาวรได้  (ซึ่งน่าจะยาก) หรือไม่ก็จนกว่าการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2557 เพื่อเลือกสมาชิกส่วนหนึ่งของสภาคองเกรสที่จะหมดวาระลง จะสามารถเปลี่ยนแปลงจำนวนที่นั่งในสภาคองเกรส จนทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเสียงข้างมากอย่างชัดเจน ขณะที่หากผลการเลือกตั้งในปลายปีหน้า ยังคงไม่ให้อำนาจที่เด็ดขาดแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว เราคงจะต้องรอไปอีกจนถึงการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2559 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย

แม้ว่าสหรัฐน่าที่จะสามารถขยับเพดานหนี้ได้ แต่ประเด็นความไม่แน่นอนทางการคลัง ที่อาจจะยืดเยื้อจากปมทางการเมืองดังกล่าว คงจะส่งผลบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากกลไกทางการคลังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เดิน ๆ หยุด ๆ นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวยังจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด อีกด้วย เพราะในภาวะที่การคลังไม่เดินหน้าและความเชื่อมั่นของประชาชนถูกกระทบนั้น การอัดฉีดสภาพคล่องหรือคงดอกเบี้ยในระดับต่ำของเฟด คงจะมีผลจำกัดต่อระบบ
เศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่ก่อนหน้านี้ เฟดเองก็มีโจทย์ในการพิจารณาจังหวะเวลาที่จะลดการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินหรือการทำคิวอี
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อภาพทางการคลังและเศรษฐกิจมีความไม่ชัดเจนมากขึ้น เฟดก็คงจะตัดสินใจได้ลำบาก โดยมีความเป็นไปได้ว่า การลดคิวอี อาจจะต้องถูกเลื่อนออกไปอีก หรืออาจจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบด้วยซ้ำ หากเศรษฐกิจกลับมาตกอยู่ในภาวะถดถอย ทำให้เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะอ่อนแรง ท่ามกลางกลไกทางการคลังและการเงินที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ จนกว่าเงื่อนปมทางการเมืองจะสามารถคลี่คลายลงไป

สำหรับประเทศไทยนั้น แนวโน้มที่เศรษฐกิจของสหรัฐในปีหน้า อาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้เดิมจากประเด็นทางการคลังดังที่กล่าวไว้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยคงจะต้องเตรียมปรับตัวรับมือ ทั้งต่อความผันผวนตลาดเงิน ตลาดทุน และค่าเงิน ตลอดจนกำลังซื้อต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ดีอย่างที่คาด โดยผู้ส่งออก นอกเหนือจากที่จะต้องพิจารณาปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังอาจต้องเร่งพยายามขยายโอกาสทางการค้าในตลาดอื่น ๆ ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจน่าจะยังพอไปได้ เช่น จีน และกลุ่มอาเซียน ครับ. ดร.เชาว์ เก่งชน
ck.at.kr@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การคลังสหรัฐ อาจจะยังคงยืดเยื้อ – โลกการเงิน กับ ดร.เชาว์ เก่งชน

Posts related