เป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอดว่าประเทศไทยได้ส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมน้อยเกินไปหรือไม่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกระทรวงพลังงาน ก็พยายามแสดงตัวเลขว่ารัฐได้ส่วนแบ่งรายได้สูงกว่าผู้ประกอบการโดยได้ส่วนแบ่งหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วสูงถึงร้อยละ 55 ในขณะที่เอกชนได้เพียงร้อยละ 45 เท่านั้น แต่ทางฝ่ายผู้คัดค้านนำโดยคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภาก็บอกว่าการคิดส่วนแบ่งของกรมเชื้อเพลิงธรรม ชาติไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้นำเอามูลค่าของทรัพยากรปิโตรเลียมที่ขุดพบได้มาเป็นการลงทุนในส่วนของรัฐ ซึ่งถ้าคิดแบบนั้นการลงทุนในส่วนของรัฐจะสูงกว่าเอกชนโดยรัฐจะลงทุนถึง 70% ในขณะที่เอกชนลงทุนอุปกรณ์และการบริหารจัดการเพียง 30% เท่านั้น ดังนั้นถ้าคิดแบบกรรมาธิการฯผลตอบแทนการลงทุนของรัฐจะอยู่เพียงแค่ 31% ในขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนของภาคเอกชนจะสูงถึง 60% เลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าประเด็นการถกเถียงไม่ได้อยู่ที่ตัวเม็ดเงินที่ได้รับเพราะใช้ข้อมูลเดียวกันคือข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงฯเป็นหลักในการพิจารณา แต่ความเห็นต่างกลับไปอยู่ที่การนำเอาตัวทรัพยากรปิโตรเลียมมาตีความว่าเป็นการลงทุนภาครัฐหรือไม่เพราะกรมฯถือว่ารัฐไม่ได้ลงทุนแต่กรรมาธิการฯตีความว่าทรัพยากร ธรรมชาติเป็นของรัฐจึงเท่ากับรัฐนำเอาทรัพยา กรธรรมชาติมาร่วมลงทุนกับเอกชน เรื่องนี้จะบอกว่าตรรกะใครผิดหรือถูกก็คงเป็นเรื่องลำบากเพราะมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความรู้สึกและความอ่อนไหวในเรื่องทรัพยากรของชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมากกว่าเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตามเราคงต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่นั้นตราบใดที่ยังไม่สามารถค้นพบพิสูจน์ว่ามีอยู่จริงและนำขึ้นมาใช้ได้ก็ยังไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง ถ้าเราอยากได้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรเหล่านั้นเราก็ต้องลงมือสำรวจ ขุดค้นและพัฒนาเอง ถ้าเราไม่พร้อมเราก็ต้องร่วมมือกับคนอื่นในการสำรวจและพัฒนาโดยแบ่งปันผลประโยชน์กันให้เหมาะสม แต่อย่าลืมว่าธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงมากผู้ลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงเอาไว้ทั้งหมด การให้สัมปทานและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานว่ารัฐไม่มีความเสี่ยงและไม่ลงทุน ถ้าเราเปลี่ยนหลักคิดโดยบอกว่ารัฐลงทุนด้วยทรัพยากรธรรมชาติจึงต้องการส่วนแบ่งปันผลประโยชน์มากขึ้น ถามว่ารัฐจะเข้าไปแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ ผมทราบว่าในอดีตมีบริษัทน้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกเคยมาขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยลงทุนสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในทะเลอันดามันนอกชายฝั่งเกาะภูเก็ตหมดเงินไปหลายพันล้านบาทในที่สุดไม่พบอะไรต้องคืนพื้นที่สัมปทานให้กับรัฐบาลไป กรณีอย่างนี้รัฐจะเอาทรัพยากรจากไหนไปร่วมลงทุนกับเขาหรือจะชดเชยเขาอย่างไรครับ!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การคิดส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย – พลังงานรอบทิศ

Posts related