อเมริกาจะต้องเรียนรู้โลกจริงจากการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ “เป็นคำพูดของ ดร.แอนโทนี่ คาร์นีเวล์ (Dr.Anthony Carnevale) ผู้ก่อตั้งสถาบันการเรียนรู้สถานที่ทำงาน สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวตบท้ายในปาฐกถาการสัมมนาการศึกษาของเครือข่ายมหาวิทยาลัยนานาชาติ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเร็ว ๆ นี้” ผู้เขียนได้ไปร่วมประชุมสัมมนาทิศทางการอุดมศึกษาปีนี้ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายมหาวิทยาลัยนานาชาติซึ่งมีประมาณ 80 มหาวิทยาลัยใน 29 ประเทศทุกทวีปทั่วโลกที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อกำหนดทิศทางเรื่องการอุดมศึกษานานาชาติ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ก็ได้จดบันทึกคำสนทนาของ ดร.แอนโทนี่ คาร์นีเวล์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานและการศึกษาคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาและเคยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี บิล คลินตัน ให้เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการจ้างแรงงานแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และจากประธานาธิบดี จอร์จ บุช ให้เป็นกรรมการเรื่องเทคโนโลยีและการศึกษาแห่งทำเนียบไวท์เฮาส์ “การเปลี่ยนผ่านของประเทศสหรัฐ อเมริกานั้นมักจะเป็นเรื่องการศึกษาควบคู่กับเรื่องเศรษฐกิจ” ในประเทศสหรัฐอเมริกานโยบายการศึกษานั้นก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเลี้ยงดูตนเองและสามารถดำรงชีวิตในสังคมและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ด้วยทิศทางและอาชีพที่ประชาชนพลเมืองถนัด เพราะฉะนั้น ทิศทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงจะต้องปลูกฝังและสร้างความผูกพันให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ด้วยวัฒนธรรมของตนเอง และสามารถสร้างชีวิตในวงกว้างได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ในช่วง ค.ศ. 1920 ของอเมริกานั้น ผู้คนจำนวนมากทำงานด้านอุตสาหกรรมพื้นฐานขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาหลากหลายตั้งแต่ การเหมืองแร่ การพลังงาน ระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา และก็โรงงานผลิตสินค้าเครื่องใช้จำเป็นจำนวนมาก คนงานของอเมริกันสมัยนั้นประมาณ 75% จบมัธยมปลายหรือไฮสคูล และต่อมาก็ได้มีนวัตกรรมด้านเครื่องจักรกลจำนวนมากในสมัยนั้น การศึกษาในช่วงนั้นจึงอยู่ในลักษณะเป็นการศึกษาพื้นฐานและใช้ประสบการณ์การทำงานไปเลย การอุดมศึกษายังมีไม่มากนัก เพราะฉะนั้นจึงเป็นการเรียนรู้โลกของจริงไปเลยโดยไม่มีปริญญาบัตร เช่นการเรียนรู้ฝึกอบรมการทำงานเพื่อสร้างรถยนต์ในสมัยนั้นก็ทำงานไปและร่วมกันฝึกอบรมควบคู่กันไปในโรงงานเลย เพราะฉะนั้นประชาชนพลเมืองช่วงหลังสงครามโลกส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นผู้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมากกว่าและก็ไม่มีปริญญาอะไรเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในช่วงหลังปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมาอุตสาหกรรมการผลิตหลายประเภทในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มเรียนรู้เรื่องของผลิตภาพคุณภาพและมาตรฐาน ในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกาก็ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และทั้งสองประเทศนี้ก็สามารถทำสินค้าได้ดีกว่าสหรัฐอเมริกา และด้วยผลิตภาพ คุณภาพ และมาตรฐานที่ดีกว่าจึงทำให้สินค้าการผลิตของสหรัฐอเมริกาที่เคยได้ครองตลาดโลกก็ถูกแย่งไปด้วยเรื่องคุณภาพ ความหลากหลาย และการบริการที่รวดเร็วกว่าเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ ในช่วงนั้น ดร.แอนโทนี่ คาร์นีเวล์ บอกว่า ความสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาแย่ ความคิดนวัตกรรมใหม่ไม่มีอะไรมากและการศึกษาในอุดมศึกษาก็ตามสิ่งเหล่านี้ยังไม่ทันการ ไม่สามารถที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ คราวหน้ามาต่อใหม่ครับ. รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด boonmark@stammford.edu

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การศึกษาอเมริกัน – โลกาภิวัตน์

Posts related