เมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน ผมเข้าฟังการบรรยายเรื่อง “การเรียนการสอนในระบบ Education 3.0” โดย Prof. Dr. Jim G. Lengel ซึ่งจัดโดยศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การบรรยายนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายเรื่อง ผมจึงขอถ่ายทอดเนื้อหาบางส่วนของการบรรยายมาเล่าให้ผู้อ่านฟังครับ Prof. Jim กล่าวถึงการศึกษาในยุคต่าง ๆ ว่า ต้องการผลิตบุคลากรให้เหมาะสมกับการทำงานในยุคนั้น กล่าวโดยสรุปคือ การศึกษา 1.0 อยู่ในยุคเกษตรกรรม การศึกษา 2.0 อยู่ในยุคอุตสาหกรรม ส่วนการศึกษา 3.0 อยู่ในยุคของเราซึ่งเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นการเรียนการสอนในแต่ละยุคจะแตกต่างกัน เช่น ยุค 1.0 จะเน้นที่การทำงานตามคำสั่งและปฏิบัติงานได้ถูกต้อง  ยุค 2.0 จะเน้นที่การอ่านออกเขียนได้ห้อง เรียนมีขนาดใหญ่ ส่วนยุค 3.0 ผู้เรียนจะทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มย่อยเพื่อช่วยแก้ปัญหา เน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน ดังนั้นการเรียน การสอนในยุค 3.0 จะไม่ใช่การฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว แต่ผู้เรียนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนด้วยกันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนต่าง ๆ ที่ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ในการเรียน ตัวอย่างเช่น ในการบรรยายครั้งนี้  Prof. Jim ไม่ได้ใช้สไลด์พาวเวอร์พอยต์และบรรยายไปเรื่อย ๆ เหมือนผู้บรรยายส่วนใหญ่ แต่มีเว็บไซต์ประกอบการบรรยายซึ่งอยู่ที่เว็บ  lengel.net/123 แล้วให้ผู้ฟังใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเปิดเว็บไซต์นี้ แล้วติดตามเนื้อหาประกอบ จากนั้นก็ตั้งคำถามแล้วให้ผู้ฟังช่วยกันโหวตหรือแสดงความเห็น จากนั้น Prof. Jim แสดงคำตอบบนจอภาพให้ทุกคนได้เห็นครับ ทำให้ผู้ฟังบรรยายมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน นอกจากการใช้เว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ตประกอบการบรรยายแล้ว การสร้างปฏิ สัมพันธ์ในห้องเรียนมีหลายวิธีด้วยกัน  Prof.Jim  อธิบายรูปแบบการเรียน การสอนยุคใหม่ที่เรียกว่า “ห้องเรียนกลับทาง” แปลจากคำว่า Flipped classroom ความแตกต่างระหว่างห้องเรียนกลับทางและห้องเรียนแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยคือ ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม ครูจะสอนเนื้อหาในห้องเรียน แล้วให้การบ้านแก่นักเรียน เพื่อนำไปทำที่บ้าน แต่ห้องเรียนกลับทางจะให้นักเรียนศึกษาบทเรียนด้วยตนเอง เช่น ดูวิดีโอการสอนของครูทางอินเทอร์เน็ต แล้วเข้าห้องเรียนเพื่อทำการบ้านหรือแบบฝึกหัด ตัวอย่างเช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยดูวิดีโอบทเรียนวิชาฟิสิกส์ที่บ้าน แล้วทำการทดลองยิงเลเซอร์ให้โดนกุ้งลอบสเตอร์ที่อยู่ในน้ำในห้องเรียน เป็นต้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำนวัตกรรมด้านการเรียน การสอนเพื่อส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน คือ คลิกเกอร์ เป็นเทคโนโลยีที่ประกอบด้วยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยที่ผู้สอนตั้งคำถาม แล้วให้ผู้เรียนกดอุปกรณ์คลิกเกอร์ซึ่งมีรูปร่างคล้ายรีโมต จากนั้นคอมพิวเตอร์ของผู้สอนจะเก็บรวบรวมข้อมูลจากคลิกเกอร์ แล้วแสดงผลออกมาบนจอภาพ เช่น ในรูปแบบกราฟ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้เรียนตอบสนองอย่างไร ผมทดลองใช้คลิกเกอร์ในการสอนอยู่สามครั้ง ก็พบว่าผู้เรียนตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการเรียนค่อนข้างมาก ต่างประเทศก็ใช้คลิกเกอร์ในห้องเรียนค่อนข้างมากครับ ผู้อ่านที่สนใจลองค้นหาในกูเกิลโดยใส่ข้อความ “clicker in classroom” นอกจากปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนแล้ว เราก็ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นนอกห้องเรียนได้เช่นกันครับ เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนได้ดีมาก ผมสอนวิชาหนึ่งซึ่งเป็นวิชาที่มีนิสิตจากหลายคณะมาเรียน ดังนั้นผมจึงสร้างกลุ่มของวิชานี้ในเฟซบุ๊ก และการบ้านแรกของวิชานี้คือ นิสิตทุกคนจะต้องเข้าร่วมกลุ่มวิชา และแนะนำตนเองให้เพื่อนรู้จัก จุดประสงค์ของผมคือ ต้องการให้นิสิตรู้จักเพื่อนต่างคณะที่เรียนวิชาเดียวกัน ไม่ใช่รู้จักแค่เพื่อนที่อยู่คณะเดียวกันเท่านั้นครับ หรือถ้ามีการบ้านที่ลอกกันไม่ได้  ผมจะบอกนิสิตส่งการบ้านทางเฟซบุ๊กเพื่อให้ทุกคนได้เห็นการบ้านของเพื่อนคนอื่น ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง ผู้เรียนเช่นกัน ดังนั้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนจึงมีหลายวิธีด้วยกัน แต่เนื่องจากยุคนี้คือยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและนักเรียนยุคใหม่มีความรู้และประสบการณ์เรื่องไอทีมาก ดังนั้นไอทีจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษา 3.0 โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไอแพดจึงสามารถนำมาใช้ในห้องเรียนเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ครู อาจารย์จึงควรศึกษาเทคโนโลยีหรือเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนในยุคนี้เพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันครับ. ธงชัย โรจน์กังสดาล Thongchai.R@chula.ac.th ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การศึกษา 3.0 – 1001

Posts related