ผ่านไปกว่า 5 เดือนแล้วกับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของไทย จนถึงเวลานี้ยังไม่มีข้อยุติว่าจะเดินหน้าไปสู่จุดใด ขณะที่เวลาของการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนหรือเออีซีใน 3 เสาหลัก ยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องเรื่อย ๆ จนเหลือเวลาอีกปีเศษเท่านั้น ที่ตลาดอาเซียนทั้ง 10 ชาติกว่า 600 ล้านคน จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว แต่จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจยืดเยื้อต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีนี้ ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่อาจตกต่ำและขยายตัวได้น้อยที่สุดในอาเซียนก็เป็นไปได้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ประเทศไทยขาดอะไรในการเตรียมพร้อมเข้าสู่เออีซี” โดย ดร.อัทธ์ พิศาลวาณิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า การขยายตัวเศรษฐกิจไทยในเวลานี้อาจเติบโตได้เพียง 2-3% เท่านั้นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองได้ทำให้สูญเสียเงินในระบบเศรษฐกิจไปมากกว่า 3 แสนล้านบาททีเดียว ทั้งนี้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่าหากนำเงินเข้ามาลงทุนในไทยในห้วงเวลานี้จะคุ้มค่าต่อการลงทุนเพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง จึงส่งผลให้เงินลงทุนเหล่านี้หันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน โดยประเมินว่าเงินลงทุนที่ควรจะอยู่ในไทยแต่กลายเป็นว่าได้เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมถึงไหลไปอยู่ในเวียดนามประมาณ 50,000 ล้านบาท ประเทศเมียนมาร์ 20,000 ล้านบาท และเข้าไปอยู่ในกัมพูชาอีก 10,000 ล้านบาท นอกจากนี้เงินรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เคยเห็นไทยเป็นสวรรค์ของการท่องเที่ยว จะลดน้อยหายไปด้วยเช่นกัน เบื้องต้นคาดการณ์กันว่าจากปัจจัยทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ได้ทำให้นักท่องเที่ยวหันไปเที่ยวประเทศอื่น ๆ แทนไม่น้อยกว่า 8 แสนคนทีเดียว ส่งผลให้เงินที่ควรมาหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยหายไปอีกไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาททีเดียว ในขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจของอาเซียนในแต่ละปีจะมีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 5-6% โดยประเทศเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา มีแนวโน้มขยายตัวสูงสุดในระดับ 7% ขณะที่อินโดนีเซียขยายตัวในระดับ 6% ส่วนสิงคโปร์และมาเลเซีย จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4-5%  ด้วยเหตุนี้…จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นกังวลสำหรับไทย และอาจส่งผลให้ไทยไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ได้ตามที่วาดฝันไว้ ขณะเดียวกันเมื่อหันมามองถึงความพร้อมของไทยเองก็ต้องยอมรับว่า…ไทยไม่มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางอาเซียน เพราะขาดการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน รวมไปถึงศักยภาพด้านการแข่งขันที่ลดน้อยถอยลงไปทุกวัน สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจไทยที่เกิดอาการชะงักงันจากสารพัดปัญหา สอดคล้องกับรายงานผลวิจัยของ รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่บอกว่า เวลานี้ทุกภาคส่วนเห็นเหมือนกันว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ก็คือ เรื่องของสถานการณ์ทางการเมือง รองลงมาคือ เรื่องต้นทุนทางการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ที่สูงมาก รวมไปถึงปัจจัยเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่สูง และราคาพลังงานที่แพง  รศ.ดร.เสาวณีย์ ยังบอกด้วยว่า แม้โอกาสสำคัญอย่าง…การเปิดเออีซี จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ไทยมีโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมากก็ตาม แต่การเปิดเออีซีในครั้งนี้ ไทยยังขาดศักยภาพที่สำคัญที่สุดคือ “บุคลากร” โดยไทยขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียนอื่น ๆ รวมไปถึงยังขาดในเรื่องการวิจัยตลาด จึงทำให้โอกาสของเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ดูจะเลือนรางไปทีเดียว ขณะเดียวกันด้วยปัจจัยลบทางการเมืองอาจทำให้การจ้างงานเริ่มน้อยลง และเป็นความเสี่ยงต่อแรงงานที่เพิ่งจบใหม่และหากบ้านเมืองยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ก็จะทำให้นักธุรกิจชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยเข้าไปอีกโดยมองว่าโอกาสของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจเติบโตได้ 3-4%  อย่างไรก็ดีหากไทยสามารถปรับปรุงเรื่องของการเมืองให้เข้มแข็ง เร่งพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเร่งพัฒนาเรื่องแรงงานไร้ทักษะให้ดีขึ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งเร่งเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ได้แล้ว การเปิดเออีซีก็จะกลายเป็นโอกาสที่ดีของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยคาดหวังกันว่าเมื่อเข้าสู่เออีซีแล้ว เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้เกิน 4% เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เห็นว่า หากไทยเข้าสู่เออีซีไปแล้ว เชื่อได้ว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะนิ่ง และทำให้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยอาจจะขยายตัวได้มากถึง 6% รวมไปถึงอัตราการจ้างงานจะดีขึ้น แต่ปัจจัยด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ ยังคงมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ท้ายที่สุดนี้ ในเวทีเสวนาครั้งนี้ ได้ผลสรุปที่ตรงกันว่า… สิ่งที่หลายฝ่ายต้องการเห็นในขณะนี้ คือ ต้องการให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันเร่งแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ให้ยืดเยื้อหรือลุกลาม ไม่เช่นนั้น…ไทยอาจตกเวทีโลกไปเลยก็ได้!. มาริสา ช่อกระถิน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การเมือง…ฉุดไทยพลาด ‘ฮับ’เออีซี – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related