เหลืออีกเพียงสองเดือนก็จะสิ้นปี 2556 แล้ว ซึ่งมาถึงตรงนี้ หลายฝ่ายคงมีโจทย์ที่จะต้องประเมินสถานการณ์สำหรับปีหน้า ผมจึงขออนุญาตสรุปประเด็นเศรษฐกิจ-การเงินหลัก ๆ ที่ประเมินจากข้อมูลที่มีอยู่ ณ วันนี้ ครับ สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ คาดว่า ในปี 2556 นี้ คงจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อย อันเป็นผลจากประเด็นทางการคลัง ที่นำมาสู่การปิดทำการรัฐบาลบางส่วน เป็นเวลา 16 วันในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่สำหรับปีหน้านั้น คาดว่า หากการต่อรองทางการเมืองระหว่างพรรครีพลับลิกันและเดโมแครต ไม่รุนแรงจนนำมาสู่การปิดทำการรัฐบาลอีก หรือนำมาสู่การผิดนัดชำระหนี้แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐก็น่าจะสามารถขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.0-2.4 คือดีกว่าในปี 2556 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการขยับเพดานหนี้ รวมถึงการอนุมัติการใช้จ่ายของรัฐบาล คงจะเป็นไปในลักษณะของการต่ออายุช่วงสั้น ๆ ทีละครั้ง ๆ จนถึงการเลือกตั้งกลางเทอมของสภาคองเกรสในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ทำให้ประเด็นการต่อรองระหว่างสองพรรคดังกล่าว ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญยังคงเป็นการปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน หรือการทำคิวอี ของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งแม้คาดว่า อาจจะเลื่อนออกไปเป็นประมาณเดือนมีนาคม หรือเมษายน ปีหน้า แต่ในที่สุดแล้ว หากสหรัฐไม่ตกหน้าผาทางการคลังและเศรษฐกิจยังคงทยอยฟื้นตัวได้แล้ว การปรับลดคิวอีก็คงจะต้องเกิดขึ้นอยู่ดี ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง ในตลาดเงิน ตลาดทุน รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องจากปี 2556 ที่ผ่านมา ส่วนเศรษฐกิจจีนนั้น คาดว่า ในปี 2556 คงจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าเป้าที่ร้อยละ 7.5 ของทางการจีน หลังจากที่อัตราการขยายตัวในไตรมาสที่สามที่เพิ่งจะประกาศออกมา ดีขึ้นกว่าในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งทำให้คลายความกังวลลงไปได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงมีคำถามเรื่องความสามารถในการแข่งขันของจีน และความมั่นคงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว รวมถึงยังคงต้องติดตามประเด็นสภาพคล่องในระบบการเงิน ตลอดจนประเด็นคุณภาพของสินเชื่อ ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนนั้น แม้ว่าตัวเลขจีดีพีของทั้งปี 2556 จะยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้คาดว่ากลุ่มประเทศยูโรโซน น่าจะสามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยได้ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ การที่ธนาคารกลางยุโรป จะทำการประเมินฐานะความแข็งแกร่งของบรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่จำนวน 128 แห่ง โดยการตรวจสอบดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจากวันนี้ ซึ่งหากสถาบันการเงินใดถูกประเมินว่ามีเงินกองทุนไม่เพียงพอก็จะต้องดำเนินการเพิ่มทุน ในขณะเดียวกัน ทางการยุโรปก็คงจะเดินหน้าจัดตั้งกลไกแก้ปัญหาสถาบันการเงินที่อ่อนแอ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งยูโรโซน กล่าวคือ มีกระบวนการที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้เพิ่มทุน หรือการปิดกิจการ รวมถึงการคุ้มครองเงินฝาก โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายที่จะยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงินในกลุ่มยูโรโซนให้มีความแข็งแกร่ง และได้รับความเชื่อมั่น ทั้งนี้ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่สถาบันการเงินที่อ่อนแอ จะพลอยลากฐานะการคลังของประเทศให้ย่ำแย่ตามไปด้วย เหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับไอร์แลนด์และสเปน ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา สำหรับประเด็นด้านสภาพคล่องของระบบการเงินไทยนั้น แม้การลดคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นอยู่บ้าง แต่ผมมองว่า คงจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงมากนักต่อสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากสภาพคล่องที่สถาบันการเงินในระบบใช้ในการปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่นั้น มาจากการระดมเงินฝากในประเทศ ไม่ได้มาจากเงินทุนหรือเงินกู้ต่างประเทศ เหมือนกับในช่วงฟองสบู่ก่อนปี 2540 อย่างไรก็ดี จากการที่เศรษฐกิจไทยในปี 2557 น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น เป็นประมาณร้อยละ 4.5 ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่า สถาบันการเงินในระบบย่อมจะต้องมีความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้การแข่งขันด้านเงินฝาก น่าที่จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อประกอบกับความต้องการใช้เงินของโครงการลงทุนภาครัฐ ที่คงจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปีหน้า รวมไปถึงสภาพคล่องในตลาดทุน ที่อาจจะลดลงตามการลดการทำคิวอีของสหรัฐแล้ว ระบบการเงินไทยก็คงจะมีสภาพคล่องที่ทยอยตึงตัวขึ้นตามลำดับ แต่ไม่น่าที่จะหวือหวา โดยน่าที่จะยังสามารถรับมือกันได้ครับ. ดร. เชาว์ เก่งชน ck.at.kr@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การเศรษฐกิจและการเงิน ปี 2557 – โลกการเงิน กับ ดร. เชาว์ เก่งชน

Posts related