เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีมติกบง.ประกาศลดราคาน้ำมันดีเซลลงมา 14 ส.ต./ลิตร ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงจากลิตรละ 29.99 บาท มาเป็น 29.85 บาท ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลมีการเคลื่อนไหว แทนที่จะถูกกำหนดตายตัวอยู่ที่ 29.99 บาทหรือไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรอย่างที่ผ่านมา (แต่ก็ยังน่าสงสัยอยู่ว่า ถ้าจำเป็นจะต้องขึ้นไปเกิน 30 บาท/ลิตร กบง.ชุดนี้จะกล้าขึ้นราคาหรือเปล่า) นโยบายราคาน้ำมันดีเซลต้องไม่เกินลิตรละ 30 บาทนั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของนโยบายประชานิยมด้านพลังงานที่ติดมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อทำแล้วก็เลิกไม่ได้ ใครเลิกก็โดนด่าจนต้องกลับมาทำใหม่ ติดพันกันมาจนถึงทุกวันนี้  คำถามที่ผมอยากถามและได้ตั้งคำถามมาตลอดแต่ไม่มีใครตอบได้ก็คือ ราคา 30 บาทนั้นมาจากไหน มีผลการศึกษาหรือผลการวิจัยจากสถาบันใดรองรับหรือไม่ว่าราคาน้ำมันดีเซลที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยควรจะเป็นเท่าไร หรือเป็นราคาที่รัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง คว้าลอย ๆ มาจากอากาศ แล้วทุก ๆ รัฐบาลก็ใช้ต่อ ๆ กันมา โดยไม่กล้าเปลี่ยนแปลงเพราะกลัวจะเสียคะแนนเสียง (แต่ผมว่านักการเมืองไทยเป็นโรคเจ๊เกียวโฟเบียมาก กว่า เพราะถ้าราคาดีเซลเกิน 30 บาทเมื่อไร เจ๊เกียวก็จะมาต่อรองขอขึ้นราคาค่าโดยสารทันที) จริงอยู่ที่ราคาน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนสำคัญของการขนส่งทุกชนิดในประเทศ แต่คำถามที่ต้องถามคือ ทำไมต้อง 30 บาท! ทำไมไม่เป็น 28-29 บาท หรือทำไมไม่เป็น 31-33 บาท ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน มีเพตุผลทางวิชาการรองรับหรือไม่ เราควรมาฉุกคิดว่า การที่มีการนำเอาเงินภาษีสรรพสามิตปีละ 108,000 ล้านบาท มาตรึงราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้ที่ 30 บาท/ลิตรเป็นเวลาสามปีกว่า หมดเงินไป 333,000 ล้านบาทแล้วนั้น มันสมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้ประโยชน์กับประเทศชาติเต็มที่แล้วหรือไม่ จริง ๆ แล้วเราควรนำเงินนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ดีกว่านี้หรือเปล่า เช่นไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง มวลชนเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือไปลงทุนในโครงการศึกษาและสาธารณสุขตลอดจนสวัสดิการสังคม ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะดีกว่าเอามาตรึงราคาน้ำมันให้คนขับรถได้ใช้น้ำมันถูก ๆ ออกรถใหม่ ๆ มาเผาน้ำมันกันเล่นอย่างทุกวันนี้หรือเปล่า?  และถ้าบอกว่า ถ้าไม่ตรึงราคาน้ำมันเอาไว้ค่าขนส่งจะแพง ข้าวของจะขึ้นราคา ผมก็อยากจะถามว่า เราตรึงราคาน้ำมันดีเซลกันมาสามปีแล้ว ข้าวของขึ้นราคาไหม และบางช่วงราคาน้ำมันดีเซลก็ต่ำกว่า 30 บาท/ลิตรเป็นเวลาหลายเดือน แต่ผมก็ไม่เห็นค่าขนส่งจะลดลงแต่อย่างใด นอกจากนั้นผมก็อยากจะถามว่าแล้วประเทศเพื่อนบ้านของเราเขาอยู่กันได้อย่างไร เพราะราคาน้ำมันดีเซลของเขาแพงกว่าของเราเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นมาเลเซีย ซึ่งก็กำลังปรับราคาขึ้นเรื่อย ๆ เพราะรัฐบาลของเขาก็ทนอุดหนุนต่อไปไม่ไหว) โดยเฉพาะประเทศลาวและกัมพูชาที่ประชาชนของเขามีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าคนของเรามาก แต่ต้องใช้น้ำมันดีเซลแพงกว่าบ้านเรา เขาอยู่กันอย่างไร ดังนั้นเรื่องของราคาพลังงานจึงเป็นเรื่องที่คนไทยต้องพยายามทำความเข้าใจ อย่าสักแต่เพียงฟังเขาพูดแล้วก็เชื่อต่อ ๆ กันมา เพราะข้อมูลมากมายที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ มีลักษณะเป็นแค่ “มายาคติ” ดังนั้นการพยายามแสวงหาข้อมูลและข้อเท็จจริงที่หลากหลาย จึงจะทำให้เราเป็นผู้ที่ “รู้จริง” ก็ได้แต่หวังว่าอย่างน้อยคงไม่มี “มายาคติ” ในหมู่ผู้กำหนดนโยบายพลังงานในบ้านเรานะครับ !!!

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ข้อเท็จจริงกับมายาคติ ในเรื่องราคาพลังงาน – พลังงานรอบทิศ

Posts related