รศ. ดร. อมร พิมานมาศรองเลขาธิการสภาวิศวกร และอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยโครงการ “ศึกษาวิธีการออกแบบและเสริมกำลังอาคารในประเทศเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว”โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ที่ อ.พาน จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 5พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้างบ้านเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารบ้านเรือนหลังเล็กๆ ซึ่งการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานไม่มีวิศวกรมาออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ทำให้โครงสร้างบ้านไม่แข็งแรง จึงนำเสนอ10 แนวทางการออกแบบอาคารในเขตเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำได้ไม่ยากและเหมาะกับการก่อสร้างในบ้านเรา ประกอบด้วย 1) วัสดุก่อสร้างต้องได้มาตรฐานคอนกรีตต้องมีกำลังรับน้ำหนักไม่น้อยกว่า 240 กก.ต่อตารางเซ็นติเมตรหรือมากกว่านั้น เหล็กเส้นต้องเป็นเหล็กได้มาตรฐาน มี มอก. รองรับการใช้คอนกรีตที่ด้อยคุณภาพหรือเหล็กไม่เต็มเส้นจะทำให้โครงสร้างไม่แข็งแรง 2)เสาบ้านต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 20 ซม. เสาที่มีขนาดใหญ่ยิ่งต้านแผ่นดินไหวได้ดีเพราะเสาเป็นโครงสร้างหลักที่ต้องต้านแผ่นดินไหว หากเสาเล็กเกินไปอาจทำให้โครงสร้างอาคารไม่แข็งแรงและพังถล่มได้โดยง่าย 3)เหล็กเส้นในเสาต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 เส้น และมีขนาดไม่ต่ำกว่า 12 มม. 4)เสาทุกต้นต้องเสริมเหล็กปลอก โดยเหล็กปลอกต้องพันเป็นวงรอบเหล็กแกนเหล็กปลอกที่ใช้ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. หากใช้เหล็กขนาด 9 มม. ได้ยิ่งดีและต้องพันเหล็กปลอกให้ถี่ๆโดยเฉพาะที่โคนเสาและปลายเสาด้านบนต้องวางเหล็กปลอกจำนวนอย่างน้อย 10 วง ในระยะ 50ซม. วัดจากปลายด้านบนและปลายด้านล่างของเสาทุกต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาชั้นล่างสุดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 5)ข้อต่อหรือบริเวณที่คานและเสามาบรรจบกันจะต้องเสริมเหล็กปลอกเช่นกันโดยต้องใช้เหล็กปลอกขนาดไม่เล็กกว่า 6 มม. จำนวนไม่น้อยกว่า 4เส้นพันรอบเหล็กแกนในบริเวณข้อต่อ 6) คาน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญหากสามารถพันเหล็กปลอกที่บริเวณปลายคานให้ถี่ๆ ได้ จะทำให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น 7)หลีกเลี่ยงการต่อเติมส่วนต่างๆ ของโครงสร้างเอง เช่นการต่อเติมชั้นลอยอาจทำให้เสาปกติกลายเป็นเสาสั้นและอาจทำให้ถูกเฉือนขาดได้ง่าย 8)ต้องระวังการก่อสร้างบ้านที่ชั้นล่างเปิดโล่งแนวทางป้องกันควรทำค้ำยันไม้หรือเหล็กจากมุมล่างของเสาต้นหนึ่งไปยังมุมบนของเสาต้นถัดไปเป็นรูปกากบาทจะทำให้ชั้นที่เปิดโล่งนั้นมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นไม่พังถล่มลงมา 9)การก่อกำแพงอิฐต้องก่อให้ตลอดความสูงของเสา ห้ามปล่อยให้มีช่องว่างเพราะจะทำให้เกิดการเฉือนขาดได้ง่ายๆ 10) ในการก่อสร้างบ้านที่แข็งแรงนั้นควรมีวิศวกรโยธาเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ข้อแนะนำวิธีสร้างบ้านในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหว

Posts related