พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยถึงแนวทางการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อรองรับภาคการผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่อยู่ในแหล่งเพาะปลูกชุมชนว่า กระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งให้กับกลุ่มเกษตรกรไทยในต่างจังหวัดที่ทำการเพาะปลูกและผลิตสินค้าอยู่ในแหล่งผลิตห่างไกล เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถขนส่งสินค้าเกษตรออกจากแหล่งเพาะปลูกไปยังแหล่งผลิต แหล่งแปรรูป รวมไปถึงตลาดการส่งออกไปยังประเทศเทศเพื่อบ้านและต่างประเทศ  ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสด้านการตลาดและรายได้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน    ทั้งนี้จะต้องเร่งพัฒนาเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ ทั้งทางน้ำ ทางถนนและทางรางให้สามารถเข้าถึงแหล่งชุมชนเกษตร รวมไปถึงการเชื่อมโยงไปยังภูมิภาค ซึ่งในส่วนของการวางโครงข่ายคมนาคมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้คสช. ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.)ขึ้นมาใช้เป็นกลไกลส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศตามนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  โดยจะใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยง ด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนและ ข้อตกลงการค้าเสรีภายใต้กรอบอาเซียนขยายการค้าการลงทุนร่วมกัน  นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า พล.อ.อ.ประจินได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนว่าต่อไปนี้กระทรวงจะต้องเร่งอำนวยความสะดวกด้านการค้าและเส้นทางการขนส่ง เพื่อขนส่งสินค้าเกษตรออกจากแหล่งผลิตไปสู่ตลาดด้วย  เบื้องต้นกระทรวงจะต้องกลับไปทบทวนแผนยุทธศาสตร์โลจิสติกประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของ คสช. นอกจากนี้จะต้องจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบาย   โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิดในประเทศไทย  เบื้องต้นกระทรวงอาจจะต้องพิจารณาสร้างเส้นทางถนนขนาดเล็กแยกย่อยออกไปยังชุมชนต่างๆ ในจังหวัดที่เป็นแหล่งเพราะปลูกสินค้าเกษตรที่สำคัญ เพื่อให้การคมนาคมขนส่งสามารถเข้าถึงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรในชุมชนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลได้  รวมทั้งอาจจะต้องเร่งพัฒนาสร้างท่าเรือในแม่น้ำเพิ่มขึ้น เช่น ท่าเรือแม่น้ำป่าสัก ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่าเรือในแม่น้ำ บริเวณจังหวัดอ่างทอง และท่าเรือแหลมฉบังเป็นต้น  ทั้งนี้เชื่อว่าระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรรวมทั้งรายได้ของเกษตรกร และยังสามารถแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดจนนำไปสู่ปัญหาราคาตกต่ำได้     

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คมนาคมปรับแผนโลจิสติกส์

Posts related