ชั่งใจอยู่นานเหมือนกันว่าจะหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยกับท่านผู้อ่านดีหรือไม่ แต่ด้วยกระแสที่แรงมากในตอนนี้ ถ้าไม่หยิบมาถกยกมาคุยเสียเลยก็อาจจะทำให้ดูเชยแสนเชย แต่ก็จะพูดในมุมของการนำเอาอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมมาใช้งาน ในการคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับที่จะเป็นตัวอย่างในวันนี้ อย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่าในโลกปัจจุบันนี้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะการติดต่อสื่อสาร ยิ่งการกำเนิดของเครือข่ายสังคมหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาทิ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม, ไลน์ ฯลฯ ยิ่งทำให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและฉับไว จนท่านเทพเฮอร์มีสอาจจะตกใจได้ว่าทำไมถึงได้เร็วและไวกันได้ขนาดนี้ อย่างในช่วงที่ผ่านมาก็มีการติดต่อ สื่อสาร รณรงค์ และเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปออกมาคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนิรโทษกรรม ด้วยข้อมูลต่าง ๆ นานาผ่านทางเครือข่ายสังคมต่าง ๆ ที่มีอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ที่จะเห็นได้ชัดเจนหน่อยก็คือการเปลี่ยนรูปโพรไฟล์ในเฟซบุ๊กเป็นสีขาวดำแสดงข้อความคัดค้าน พ.ร.บ. กันอย่างแพร่หลาย แล้วแพร่ขยายในวงกว้างไปยังเครือข่ายสังคมอื่น ๆ ต่อ นอกจากนี้ก็มีการอัพโหลดรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้าน แล้วทำ การติดป้ายกำกับหรือแฮชแท็ก เพื่อสร้างกระแสหรือกระจายข่าวให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้อีกด้วย ทางการตลาดในโลกอินเทอร์ เน็ตเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าไวรัลมาร์เกตติง ถ้าจะให้ผมแปลแบบน่ารัก ๆ ก็คงเป็น “การตลาดแบบไวรัส” คือ คนที่ได้รับข้อมูลก็จะบอกต่อไปเรื่อย ๆ ในลักษณะปากต่อปาก หรือ เวิร์ด-ออฟ-เมาท์ เมื่อการขยายแพร่พันธุ์ของเชื้อไวรัสที่ผู้คนที่รับทราบ (และเห็นชอบด้วย)ก็จะกระจายข่าวดังกล่าวออกไปเรื่อย ๆ แก่เพื่อนในสังคมเครือข่ายของตัวเองต่อ สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่มากนักในโลกอินเทอร์เน็ต เพราะธุรกิจหลายอย่างก็มาใช้การตลาดแนวนี้กันมากขึ้น เช่น ครีมบำรุงผิวที่ฝากให้ดาราอัพโหลดรูปเสมือนว่าตนเองใช้ครีมนั้น ๆ หรือสินค้าบางเจ้าที่ทำคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาแปลก ๆ ขึ้นเว็บไซต์ยูทูบแล้วคนที่ดูก็จะกล่าวถึงให้คนอื่นไปดูตาม เป็นต้น หรือหากให้ยกตัวอย่างแบบในโลกแห่งความจริง ก็เหมือนเวลาที่เราไปทานอาหารสักร้านแล้วรู้สึกประทับใจ เราก็จะบอกต่อให้เพื่อนหรือคนรู้จักของเราไปทดลองทานกันต่อ แต่ในครั้งนี้ผู้ที่คัดค้าน พ.ร.บ. โดยจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการแพร่กระจายข้อมูลให้ผู้คนทั่วไปที่อาจไม่เคยได้สนใจการเมือง (อย่างผม) ได้รับทราบและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว ว่าเห็นสมควรที่จะร่วมคัดค้านกับผู้ที่ปล่อยสาร หรือนิ่งเฉยให้ พ.ร.บ. ได้รับการอนุมัติเห็นชอบไป เราจึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ อย่าทำอะไรลงไปเพียงเพราะต้องการโหน กระแสการตลาดแบบไวรัส เพราะข้อมูลที่หลายคนแบ่งปันหรือแชร์มากับการตลาดแบบไวรัสนั้น อาจจะมีข้อมูลที่หลอกลวง หรือที่ในโลกอินเทอร์เน็ตเรียกกันว่าฮอกซ์ แฝงอยู่ก็ได้ ซึ่งกับการคัดค้าน พ.ร.บ. ฉบับนี้เท่าที่ผ่านมาผมก็เจอฮอกซ์ออกมาบ้างแล้วเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการตลาดแบบไวรัสกลายพันธุ์เลยทีเดียว ท้ายนี้ก็ขอฝากให้ทุกท่านคิดก่อนแชร์กันด้วยนะครับ จะแชร์หรือแสดงความคิดเห็นอะไรออกไปคิดถึงใจเขาใจเราสักนิดหนึ่ง และคนที่เห็นต่างก็อย่าให้ความคิด เห็นบนโลกอินเทอร์เน็ตที่แตกต่าง ทำลายมิตรภาพอันดีบนโลกความจริงให้แตกแยกเลยนะครับ : ) วรวิชญวิทย์ ประเสริฐยิ่ง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ สมาคมศิษย์เก่าคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คัดค้านกันแบบไวรัล – 1001

Posts related