อนาคตเป็นเรื่องยากที่ใครจะหยั่งรู้จริง ๆ นะครับ บางครั้งขนาดผมคุยกับนักวิชาการเก่ง ๆ หรือกูรูนักวิเคราะห์สถานการณ์ชั้นยอด ที่มีทั้งประสบการณ์และผลงานที่ช่วยการันตีได้ว่าความสามารถของท่านเหล่านั้นไม่ใช่ธรรมดา ๆ แน่นอน แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่ผมค้นพบก็คือคำพยากรณ์ของท่านเหล่านั้น มันก็ไม่ได้จะถูกต้องหรือตรงเผงเสมอไป การพยากรณ์ที่ผมพูดถึงอยู่นี้ไม่ได้หมายถึงการหยั่งรู้อนาคตจากเรื่องไสยศาสตร์ ผีสางเทวดา หรือความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้นะครับ แต่ผมหมายถึงการพยากรณ์โดยอาศัยความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้ ซึ่งก็มักจะเป็นการทำนายโดยอ้างอิงจากข้อมูลทางสถิติที่มีอยู่เดิม แล้วอาศัยเทคนิคการประมาณค่ารูปแบบต่าง ๆ  เข้ามาช่วย เพื่อพยากรณ์ถึงแนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต แม้จะมีหลายครั้งที่ผมเห็นผู้รู้ในด้านนั้น ๆ ทำนายอนาคตผิดไป แต่ผมก็ไม่ได้คิดตำหนิท่านเหล่านั้นหรอกนะครับ เพราะว่าผมเข้าใจดีครับ ว่าต่อให้ใช้สมการเยอะแค่ไหน ยังไงเสียการพยากรณ์มันก็หนีไม่พ้นการคาดเดาอยู่ดี ยิ่งในโลกยุคนี้ที่เทรนด์ใหม่เกิดขึ้นมาแทนเทรนด์เก่าอยู่แทบจะทุกวัน บางทีข้อมูลหรือวิธีที่เคยใช้พยากรณ์ได้ถูกต้องในอดีต ก็อาจไม่สามารถสะท้อนพฤติกรรมคนปัจจุบันได้แล้วก็เป็นได้ ส่งผลให้การพยากรณ์อนาคตยากขึ้นไปอีกหลายระดับเลยครับ ผมขอยกตัวอย่างกรณีคำทำนายอนาคตของบิล เกตส์ ผู้ครองตำแหน่งบุคคลที่รวยที่สุดในโลกหลายสมัย เจ้าพ่อแห่งวงการคอมพิวเตอร์ และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ โดยในงานประชุมประจำปีของ World Economic Forum เมืองดาวอส  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปี ค.ศ. 2004 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บิล เกตส์ ได้พูดเอาไว้ว่า “สแปมอีเมลหรืออีเมลขยะต่าง ๆ จะหมดไปภายใน 2 ปี” เพราะในตอนนั้นไมโครซอฟท์กำลังพยายามคิดค้นวิธีที่จะป้องกันการรับส่งอีเมล เพื่อกันอีเมลขยะเหล่านั้นออกไปให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบิลเกตส์เอง ณ ตอนนั้นก็เชื่อว่าด้วยความก้าว หน้าด้านเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง มันจะต้องช่วยยับยั้งสแปมเมลได้อย่างแน่นอนในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ว่าแต่ ณ ปี ค.ศ. 2014 นี้ สแปมมันหมดไปจากอีเมลเราแล้วหรือยัง? สำหรับผมเองมีอีเมลของ Hotmail ค่ายไมโครซอฟท์ที่ใช้มาตั้งแต่ก่อนบิล เกตส์จะพยากรณ์เรื่องสแปมเมลเสียอีก แต่จนถึงวันนี้ ผมเช็กเมลก็เจอสแปมอยู่ทุกอาทิตย์ เพื่อนผมบางคนยิ่งเจอสแปมกันทุกวัน ขนาดตั้งระบบกรองไว้แล้วก็ยังต้องตามลบกันไม่หวาดไม่ไหว         มีทั้งโฆษณาขายยาปลุกเซ็กซ์บ้าง เวิร์กแอทโฮมบ้าง จดหมายลูกโซ่ไม่ส่งต่อจะโชคร้ายบ้าง อ้าว แล้วไหนบิล เกตส์บอกว่าสแปมมันจะหมดไปตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้วไงล่ะ??? หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่ฮาไปกว่านั้นคือ ในปี ค.ศ. 1995 ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต เมตคาล์ฟ ผู้สร้างและพัฒนาระบบอีเทอร์เน็ต (Ethernet) สำหรับระบบเครือข่ายคอมพิว เตอร์ ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเทกซัสออสติน กลับกล่าวทำนายไว้ว่า “The Internet will soon go spectacularly supernova and in 1996 catastrophically collapse.” หรือก็คือ “อินเทอร์เน็ตจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วระดับอภิมหาศาล จนกระทั่งพังทลายลงในปี ค.ศ. 1996” หรือก็คือพังทลายลงภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่เขาพูดนั่นเองครับ ที่ผมเขียนว่า ปี ค.ศ. 1996 นี่ไม่ได้เขียนผิดนะครับ แต่ ณ วันนี้ ตอนนี้ เวลานี้ ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านจำนวนมากกำลังเล่นคอมพิวเตอร์ เล่นมือถือ หรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันอยู่เลยใช่ไหมล่ะครับ บางท่านนอกจากจะกำลังอ่านคอลัมน์ของผมผ่านทางอินเทอร์เน็ตใน www.dailynews.co.th แล้วยังอาจคุยโทรศัพท์ผ่านโปรแกรม Skype หรือ Line ไปด้วย แถมอาจมีเหลือบ ๆ ดูละครออนไลน์ย้อนหลังไปพร้อม ๆ กัน อ้าว แล้วไหนบอกว่าอินเทอร์เน็ตจะระเบิดตูมล่มสลายไปตั้งแต่ 18 ปีที่แล้วไงครับ ที่ผมยกตัวอย่างไปข้างต้นนี้ไม่ใช่อยากสกัดดาวรุ่ง ไม่ให้ใครกล้าออกมาพูดมาทำนายอนาคตอีกนะครับ การทำนายนั้นสามารถทำได้ครับ โดยเฉพาะถ้าทำนายอย่างมีเหตุมีผลมีหลักการรองรับ ต่อให้ผลออกมาผิดแต่ก็ถือว่าผิดเป็นครู เพราะในความเป็นจริงทุกคนต่างรู้ว่าอนาคตมันเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองมองในมิติที่ลึกไปกว่านั้นครับ ว่านอกจากผลทำนายว่าผิดหรือถูกแล้ว เราเห็นอะไรในตัวคนที่ออกมาทำนายบ้าง เห็นความสามารถในการรวบรวมข้อมูลและวิธีการใช้เหตุใช้ผลของเขาไหม เห็นความกล้าของเขาที่กล้าจะเป็นผู้นำที่ชี้ชวนคนอื่น ๆ ให้ร่วมกันมองไกลไปสู่อนาคตไหม และเห็นความรับผิดชอบของเขาที่มีต่อคำทำนายของตัวเองไหม  เห็นไหมครับว่ามันมีหลายแง่มุมให้เรามองนักพยากรณ์คนหนึ่ง ๆ ได้มากกว่าเพียงแค่ผลของการทำนาย ผมเชื่อว่าก็ในเมื่อเรายังไม่มีนักพยากรณ์ที่การันตีคำทำ นายได้ 100% การมีวิสัยทัศน์ที่มองไกลทำ นายไปถึงอนาคต ก็น่าจะยังเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับบุคคลระดับผู้นำอยู่ดี คุณผู้อ่านว่าจริงไหมล่ะครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คำทำนายอนาคตสุดฮา – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related