ยิ่งมีการพูดถึงการปฏิรูปพลังงานมากเท่าไรก็ยิ่งมีการโหมประโคมข่าวให้เห็นว่าโครงสร้างราคาพลังงานบ้านเรามีการบิด เบือน ตั้งราคาไม่เป็นธรรม ทำให้ราคาน้ำมันแพงเกินไป ซึ่งก็เป็นจริงในบางเรื่องแต่บางเรื่องก็บิดเบือนที่ผู้พูดพยายามจะสร้างภาพให้เห็นว่าประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบโดยไม่เป็นธรรม หนึ่งในข้อกล่าวหานี้ก็คือราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯ ได้ถูกกำหนดโดยมติ ครม. ให้อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์+ค่าพรีเมี่ยมต่าง ๆ (ประกอบไปด้วยค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย+ค่าประกัน+ค่าน้ำมันสูญหาย+ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันและค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มฯ ที่คัด ค้านระบุว่าค่าพรีเมี่ยมดังกล่าวนั้นเป็นค่าใช้จ่ายเทียม ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเพราะไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ แต่นำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากลั่นเอง ดังนั้นถ้าจะอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ก็ควรอ้างอิงแค่ราคาสิงคโปร์ (MOPS)เท่านั้นไม่ควรบวกค่าพรีเมี่ยมต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเทียมเข้าไปด้วยเพราะจะทำให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของไทยสูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันก็คือค่าใช้จ่ายที่ระบุไว้ในพรีเมี่ยมนั้นเป็นค่าใช้จ่ายจริงหรือค่าใช้จ่ายเทียมกันแน่? ในบรรดาค่าพรีเมี่ยมทั้งหมดจะเห็นได้ว่ามีอยู่สองตัวที่เป็นค่าใช้จ่ายจริงโดยปราศจากข้อสงสัยหรือข้อโต้แย้งใด ๆ นั่นก็คือ ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากคุณภาพยูโร 3 มา เป็นยูโร 4 และค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ที่สิงคโปร์ไม่ได้บังคับให้โรงกลั่นต้องสำรองน้ำมันเพิ่มเติมจากการสำรองเชิงพาณิชย์ (แต่โรงกลั่นบ้านเรามีภาระต้องสำรองเท่ากับ 6% ของยอดขาย) เฉพาะสองข้อนี้ก็ทำให้โรงกลั่นบ้านเรามีต้นทุนสูงกว่าสิงคโปร์ถึงลิตรละ 70-90 สต. ส่วนพรีเมี่ยมตัวอื่น ๆ เช่นค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย ค่าประกันภัย ค่าน้ำมันสูญหายซึ่งกลุ่มผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นจริง และบวกอยู่ในราคาน้ำมันที่สิงคโปร์แล้วนั้นผมอยากให้ใช้เหตุผลอย่างไม่มีอคติว่า การขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมายังประเทศไทยนั้น ต้องผ่านช่องแคบมะละกาวกขึ้นมายังสิงคโปร์ แล้วจึงต่อมายังประเทศไทยใช่หรือไม่ ถ้าท่านบอกว่าให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยตั้งราคาหน้าโรงกลั่นได้เท่ากับราคาตลาดสิงคโปร์ก็แสดงว่าโรงกลั่นของไทยต้องขายน้ำมันเท่ากับโรงกลั่นของสิงคโปร์ แล้วค่าขนส่งน้ำมันดิบจากสิงคโปร์มาไทยมันหายไปไหนล่ะครับ! ทุกวันนี้โรงกลั่นของไทยก็ต้องแข่งขันกับโรงกลั่นของสิงคโปร์เลือดตาแทบกระเด็นอยู่แล้ว เพราะโรงกลั่นของเขามีขนาดใหญ่กว่าของเราครึ่งต่อครึ่ง (4-5 แสนบาร์เรล/วัน ของเราใหญ่ที่สุด 225,000 บาร์เรล/วัน) ทำให้ต้นทุนในการบริหาร/หน่วย ต่ำกว่าสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องท่าเรือและระเบียบพิธีศุลกากรก็ดีกว่าเพราะเป็นประเทศปลอดภาษี มีการนำเข้า ส่งออกสูงมากเป็นศูนย์กลางการ กลั่นน้ำมันของภูมิภาค ทำให้โรงกลั่นของเขามีความได้เปรียบด้านต้นทุนอยู่แล้ว ผมเลยไม่แน่ใจว่าผู้เสนอต้องการอะไรกันแน่ระหว่างการให้คนไทยได้ใช้น้ำมันถูกลงในระยะสั้น ๆ อีกเพียงแค่ลิตรละ 20-30 สต. (เฉพาะค่าขนส่งที่อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายเทียม)  กับการที่โรงกลั่นในไทยจะไม่ลงทุนขยายกำลังการกลั่นอีกในขณะที่ความต้องการน้ำมันก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนการกลั่นน้ำมันในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ในที่สุดประเทศไทยก็ต้องกลับไปนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์จริง ๆ ในอนาคตในราคานำเข้าที่สูงกว่าราคาบวกค่าพรีเมี่ยมในปัจจุบันเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจริง ๆ โรงกลั่นน้ำมันในสิงคโปร์คงพากันหัวเราะงอหายและบอกต่อ ๆ กันไปว่า  “เซียมตือ (หมูสยาม) กลับมาแล้ว”!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ค่าใช้จ่ายเทียมในราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น? – พลังงานรอบทิศ

Posts related