ปิดฉากแล้วกับการโชว์สุดยอดนวัตกรรมแห่งโลกกับงาน ไอทียู เทเลคอม เวิลด์ 2013 เมื่อวันที่  19-22 พ.ย. 56 ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี โดยปีนี้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ในการจัดงาน 4 วันที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ โดยยอดผู้เข้าร่วมงานไอทียู มีจำนวน 2 หมื่นราย แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศจำนวน 1 หมื่นราย และผู้เข้าร่วมชมงานที่ลงทะเบียนล่วงหน้าอีก 1 หมื่นราย มีผู้นำสูงสุดของแต่ละประเทศเข้าร่วมงานจำนวน 7 ประเทศ รัฐมนตรีจำนวน 90 ประเทศ สื่อมวลชนจำนวน 290 ราย มีการจัดบูธภายในงานจำนวน 166 บูธ จาก 153 ประเทศ มีจำนวน 20 ประเทศที่มีการจัดพาวิลเลียน ในส่วนของรายได้ที่สะพัดในงานจะมีมากกว่า 3 พันล้านบาท ถือว่าคุ้มค่ากับงบประมาณจัดงานที่ได้รับอนุมัติประมาณ 300 ล้านบาท ที่มาจากการจับคู่ธุรกิจในงาน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานที่เดินทางมาจากต่างประเทศในหลายประเทศมีความประสงค์ที่จะอยู่เที่ยวต่อในประเทศไทยและเลื่อนกำหนดกลับประเทศของตนเอง น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ในหลาย ๆ ประเทศที่เข้าร่วมแสดงนวัตกรรม อาทิ ประเทศแทนซาเนีย อาเซอร์ไบจาน บาเซโลเนีย อิหร่านและไลบีเรีย เตรียมจะลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ ทั้งด้านการศึกษา ด้านเทคโนโลยีสารเทศและการสื่อสาร และด้านดิจิทัล เป็นต้น สำหรับแนวโน้มความร่วมมือจะเป็นการร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในอุตสาหกรรมไอซีที ฮาร์ดแวร์ไอซีทีที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือเพื่อต่อยอดในธุรกิจต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้พบปะหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีไอซีทีกับตัวแทนประเทศในยุโรปตะวันออกที่เข้าร่วมงาน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะร่วมธุรกิจและเป็นหุ้นส่วนการลงทุนกันในอนาคตด้วย สำหรับสุดยอดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและโทรคมนาคมจากผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นจากทั่วโลกที่นำมาแสดงในงานไอทียู เทเลคอม เวิลด์ 2013 นั้น ได้มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่นำมาแสดงมากมาย อาทิ ชาว์โดว์แกรม เป็นเทคโนโลยีที่ผสานความแปลกใหม่ทั้งในด้านสังคมและประสบการณ์แบบอินเทอร์แอ๊คทีฟที่สวยงาม โดยใช้เทคโนโลยีหลายอย่างเพื่อสร้างเงาของผู้เข้าชมงาน และตัดออกมาเป็นสติกเกอร์ไวนิล รวมทั้งมีกล่องคำพูดที่แสดงความเห็นความรู้สึกเกี่ยวกับงาน สะท้อนแนวโน้มในอนาคต สร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ วิซิเบิล ไลท์ คอมมูนิเคชั่นส์  เทคโนโลยีอัจฉริยะที่เปลี่ยนแสงไฟเพดานให้เป็นออพติคัล ไวไฟ  ทำให้สามารถชมภาพยนตร์คุณภาพสูงได้จากสมาร์ทโฟนหรือแล็บท็อป แคบบู๊ตส์ รองเท้ามหัศจรรย์ที่สามารถกันพื้นรองเท้าด้านนอกและด้านใน เพื่อนำทางคุณไปในทิศทางที่กำหนด โดยไม่ต้องใช้แผนที่ ไวร์เลส ไวร์ ระบบกุญแจแห่งอนาคต เป็นแอพพลิเคชั่นพิเศษที่ใช้เทคโนโลยีบอดี้ เอเรีย เน็ตเวิร์ก  ที่ใช้ในการสื่อสารระยะใกล้ ๆ และเซ็นเซอร์ที่ช่วยให้มนุษย์เปิดประตูได้สะดวก เพียงใช้กุญแจแตะที่ลูกบิดประตู ปาโระ เป็นหุ่นยนต์ลูกแมวน้ำขนฟูที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยบำบัดโรคโดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ และสมองเสื่อม โดยหุ่นยนต์แมวน้ำน้อยมีอากัปกิริยาเหมือนสัตว์เลี้ยงที่ช่วยให้ผู้ป่วยอารมณ์ดีขึ้น ช่วยลดอาการหงุดหงิดหรืออารมณ์รุนแรงของผู้ป่วยได้ จึงสามารถลดการใช้ยาในผู้ป่วยได้  ปาโระสามารถจดจำสัมผัส แสง เสียง อุณหภูมิ ท่าทาง และจำเสียงเรียกชื่อได้ 50 เสียง ฟรี ยูนิเวอร์ แซล คอนสตรัคชั่น คิท จากสหรัฐอเมริกา เป็นชุดเครื่องมือเทคโนโลยีผสานระบบการสร้างหุ่นที่แตกต่างกัน 10 ระบบ เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวโดยใช้ตัวต่อชิ้นเล็ก ๆ เหมือนโลโก้ ซึ่งแต่ละชิ้นสามารถต่อเนื่องกันได้ ทำให้สามารถสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ โดยผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแบบร่างของตัว ต่อนี้มาจากอินเทอร์เน็ตเพื่อพิมพ์เองที่บ้านในแบบ 3 ดี เป็นต้น ดูเหมือนว่างานนี้จะมีผู้เข้าชมชาวไทยน้อยจนเกินไป แต่ รมว.ไอซีที ก็การันตีว่าในภาคอุตสาหกรรมมุมกว้างของแต่ละประเทศนั้นถือว่าประสบความสำเร็จและมีการต่อยอดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในอนาคตอย่างแน่นอน. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : งาน ไอทียู เงินสะพัด 3 พันล.

Posts related