นางหยิ่น ไห่หง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง เอกอัคราชทูตจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยในงานแถลงข่าวการจัดนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงจีน ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสันว่า จีนยินดีให้ไทยใช้สินค้าเกษตรไทยเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนกับระบบรถไฟฟ้าของจีน โดยถือเป็นชาติแรกที่จีนให้ทำ และที่ผ่านมาไม่เคยปฏิบัติกับประเทศใดมากก่อน เพื่อเป็นการตอบสนองความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสุดจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย และสนับสนุนให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมของภูมิภาคได้ นายโจว หลี ผู้อำนวยการหน่วยควบคุมเทคโนโลยีรถไฟ องค์การรถไฟแห่งประเทศจีน กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงของจีนมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งมีความเร็วสูงสุดในโลก มีระยะทางรวมกันกว่า 9,700 กม. และยังมีระบบรถไฟที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวขบวนเอง โดยล่าสุดได้นำโมเดลรถไฟฟ้า มาจัดแสดงในงานนิทรรศการรถไฟความเร็วสูงแห่งประเทศจีน ที่สถานีมักกะสันระหว่างวันที่ 25 ต.ค.-25 พ.ย.นี้ “สิ่งที่องค์การรถไฟจีน ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้คือ การสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นกับประชาชนชาวไทย เกี่ยวกับประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูง และระบบเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน เพราะจากการสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง และยังมีข้อสงสัยมากมายกับเทคโนโลยีของจีน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ระยะแรกประชาชนจะไม่เข้าใจ ที่ผ่านมาชาวจีนก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟของจีนเพิ่มขึ้น 10%ต่อปี ดังนั้นการจัดนิทรรศการจะช่วยทำให้คนไทยรู้จักเทคโนโลยีของจีนเพิ่มขึ้น” ทั้งนี้ จีนมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยในทุกเส้นทาง แต่จะดำเนินโครงการใดนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยเป็นผู้ตัดสินใจ โดยที่ผ่านมาจีนได้ศึกษาเบื้องต้นแล้ว 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย ส่วนระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาใช้ในไทยนั้นจะเป็นระบบที่ดีที่สุด ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจในความปลอดภัย ส่วนการเกิดอุบัติเหตุรถไฟเร็วสูงในจีนช่วงทีผ่านมา เป็นอุบัติเหตุที่ไม่เกี่ยวกับระบบ และปัจจุบันก็พบว่าอุบัติเหตุรถไฟจีนลดลงแล้ว นายหวาง ตี้ฝู ผู้จัดการโครงการรถไฟในไทย องค์การรถไฟแห่งประเทศจีน กล่าวว่า จุดเด่นของรถไฟความเร็วสูงของจีน คือ เทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบ มีการออกแบบและผลิตตัวรถไฟความเร็วสูงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมและขับเคลื่อน ตัวรถ ระบบเบรก ขณะเดียวกันยังมีประสบการณ์ก่อสร้างมากและหลากหลายสภาพแวดล้อม ทั้งภูเขา และที่ราบ ส่วนต้นทุนรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้น ยังไม่สามารถระบุได้เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเร็วของรถไฟ ระยะทาง และลักษณะภูมิประเทศ ด้านนายพีรกันต์ แก้ววงศ์วัฒนา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมเข้าไปบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน)ที่จะก่อสร้างรวม 4 เส้นทาง เนื่องจากการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่มีอยู่ ถือเป็นกึ่งรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้วจึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการให้บริการรถไฟความเร็วสูงในทุกเส้นทางได้ ทั้งนี้หากมีนโยบายที่ชัดเจนออกมาบริษัทพร้อมจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากจีน จัดหลักสูตรเตรียมบุคลากรให้พร้อมได้อย่างแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีวิศวกรที่ดำเนินงานอยู่แล้วประมาณ 500-600 คน จึงสามารถนำบุคคลากรทั้งหมดเหล่านี้ไปเพิ่มทักษะเพื่อรองรับการให้บริการรถไฟความเร็วสูงได้ “ระบบต่างๆ รวมถึงขบวนรถไฟที่นำไปให้บริการไฮสปีดเทรนเหมือนกับไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ มีเพียงระบบอาณัติสัญญาณเท่านั้นที่แตกต่างกัน สามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 160 กม.ต่อชั่วโมง เพิ่มอีกนิดหน่อยให้วิ่งได้ 200 กม.ต่อชั่วโมงขึ้นไป ก็เป็นไฮสปีดเทรนแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าในและเรียนรู้เพิ่มเติม จึงมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูงได้แน่นอน”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จีนคอนเฟิร์มใช้สินค้าเกษตรแลกรถไฟ

Posts related