นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผู้ส่งออกต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาตรวจสอบการเก็บค่าจ่ายในการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ (เทอร์มินอล แอนด์ดิ้ง ชาร์จ) และค่าบริการอื่น ๆ ของ บริษัทเดินเรือ ไม่ว่าจะเป็นค่าเอกสารค่าล้างตู้คอนเทนเนอร์ ค่ายกตู้ เป็นต้น เนื่องจากบริษัทเดินเรือทยอยเพิ่มการเก็บค่าใช้จ่ายในรายการต่าง ๆ มากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก และลูกค้าในต่างประเทศที่มารับสินค้าเท่าที่ทราบ บริษัทเดินเรือมักจะอ้างว่า ปัจจุบันการนำเข้าของประเทศมีปริมาณลดลงอย่างมาก ทำให้บริษัทเดินเรือไม่คุ้มค่าต่อการเดินเรือขากลับ ที่อาจต้องวิ่งเรือเปล่า หรือมีสินค้าเข้ามาน้อย จึงจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายกับผู้ส่งออกไทยแทน หรือไม่ก็มีการเก็บกับผู้ค้าต่างประเทศที่รับสินค้าส่งออกจากท่าเรือ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าระวางเรือนั้น ผู้ส่งออกคงไม่ติดใจ เพราะเป็นการเก็บตามมาตรฐานที่เป็นที่รับรู้กันทั่วโลกอยู่แล้ว“ในอดีตบริษัทเรือจะบรรทุกสินค้าขาออกและขาเข้าเต็มลำ ทำให้มีรายได้ในระดับสูง แต่เมื่อช่วงตีเรือกลับไม่ค่อยมีสินค้าติดมาด้วย ก็จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าขนส่ง จึงทำให้บริษัทเรือมีการเรียกเก็บที่จุกจิกเพิ่มเติมจำนวนมาก ในอนาคตทำให้ลูกค้าต่างประเทศมองประเทศไทยไม่ดี เนื่องจากจะมองว่าสินค้าไทยยิ่งแพงกว่าเพื่อนบ้านเพิ่มอีก เพราะค่าใช้จ่ายที่จุกจิกตรงนี้ ลูกค้าต่างประเทศจะเป็นคนจ่ายเกือบทั้งหมด เนื่องจากผู้ส่งออกไทย 80-90% จะส่งออกในลักษณะเอฟโอบี หรือคิดจากสินค้า ณ ท่าเรือ โดยไม่รวมค่าประกันภัย และค่าขนส่ง จากด่านศุลกากรส่งออกไปต่างประเทศ”นายวัลลภ กล่าวว่า ในภาพรวมของการส่งออกไทยในปี 57 นั้น ผู้ส่งออกคาดว่าน่าจะขยายตัวในระดับ 3% จากเดิมที่ประเมินไว้ 5% ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยปัญหาทางการเมืองของไทยที่ยังยืดเยื้อต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 การส่งออกไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัว 1-2% จากไตรมาสแรกที่ส่งออกไทยติดลบ 1%นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขณะ นี้ได้รับร้องเรียนจากผู้ส่งออก ว่าสายเดินเรือเริ่มมีการเพิ่มอัตราการเก็บ ค่าใช้จ่ายเทอร์มินอล แอนด์ดิ้ง ชาร์จและค่าบริการอื่น ๆ จนส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องมีต้นทุนในการส่งออกเพิ่ม หลังจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากต้นทุนของวัตถุดิบ และค่าแรงที่ปรับเพิ่ม โดยบริษัทเดินเรือมองว่า ปัจจุบันปริมาณเรือเข้ามาในไทยมีปริมาณน้อยต่าง จากในอดีตทำให้สายเรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนมากนักจึงจำเป็นต้องมีการเก็บ ค่าระวางพิเศษต่างๆเพิ่มเดิมปริมาณเรือเข้าออกในไทยมากตามปริมาณการส่งออกและการนำเข้าสินค้าของไทย แต่ปัจจุบันแม้การส่งออกยังพอขยายตัวแต่การนำเข้ากลับลดลงอย่างหนัก เห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าของไทยลดลง 8 เดือนติดต่อกันนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 56 และมาลดลงมากๆในไตรมาสที่ 1 ปี 57โดยเฉพาะในเดือน ม.ค. ลดลง 15.5%เดือน ก.พ. ลดลง 16.62%และ มี.ค.ลดลง 14.9%“เมื่อเรือบรรทุกที่ส่งสินค้าไปยังตลาดต่าง ๆ แต่ขากลับไม่มีสินค้าบรรทุกกลับมา ก็จะขาดทุน หากต้องกลับเรือเปล่า ดังนั้นสายเดินเรือจำเป็นต้องเก็บค่าบริการอื่น ๆ เท่าที่เก็บได้จากเดิมที่ ไม่มีการเก็บหรือเก็บในอัตราต่ำ ๆ อย่างไรก็ตาม หากมีการเก็บค่าบริการอื่น ๆ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะการ เคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ น่าจะทำให้ผู้ส่งออกต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม 5,000-6,000 บาทต่อตู้”ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับค่าระวางเรือในการขนส่งสินค้าในไตรมาสแรกที่่ผ่านมา พบว่าเส้นทางไทย-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 250 เหรียญสหรัฐต่อ ตู้ขนาด 20ฟุต และ 470 เหรียญฯ ต่อ ตู้ขนาด 40 ฟุต , เส้นทางไทย-ยุโรป อยู่ที่ 1,100-1,800 เหรียญฯต่อตู้ขนาด 20 ฟุต และ 2,200-3,600 เหรียญฯต่อตู้ขนาด 40 ฟุต, เส้นทางไทย-ดูไบอยู่ที่ 650 เหรียญฯ ต่อตู้ 20 ฟุต และ 1,100 เหรียญฯต่อตู้ขนาด 40 ฟุต, เส้นทางไทย – สหรัฐฝั่งตะวันตก1,680 – 1,850เหรียญฯต่อตู้ขนาด 20 ฟุต และ 2,050-2,300 เหรียญญฯต่อตู้ขนาด 40 ฟุต, เส้นทางไทย-สหรัฐฝั่งตะวันออก2,950 – 3,050เหรียญฯต่อตู้ขนาด 20 ฟุต และ 3,650 -3,750 เหรียญฯต่อตู้ขนาด 40 ฟุต เป็นต้น

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จี้สอบค่าเคลื่อนย้ายคอนเทนเนอร์

Posts related