วันนี้(20 พฤษภาคม 2557) ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาวิชาการ เรื่องเปิดปมข้อมูลแผ่นดินไหว6.3 ริกเตอร์ จังหวัดเชียงราย 2557 โดยมีศาสตราจารย์ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อมูลสนเทศเชิงพื้นที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ศาสตราจารย์ดร.ธนวัฒน์  เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวขนาด6.3  ริกเตอร์ที่ จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 5พค.ที่ผ่านมา  พบว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนคนไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ในรอบ50 ปี  จากข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวที่มีการบันทึกด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508-2557 ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติการเกิดแผ่นดินไหวรวมถึงอาฟเตอร์ช็อคตั้งแต่วันที่5 พค. จนถึง 15 พค. เวลา 10.17  น.  พบว่ามีแผ่นดินไหวที่มีขนาดมากกว่า 2ริกเตอร์จำนวน  416ครั้ง  ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่ไม่ปกติ  ดังนั้นจึงนำข้อมูลวิเคราะห์ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือจีไอเอส รวมถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์  พบว่าการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหวใหญ่หรือเมนช็อคเพียงครั้งเดียวแต่ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าน่าจะเกิดแผ่นดินไหวหรือเมนช็อคเกือบ 10 ครั้งและเกิดจากรอยเลื่อนทั้งสิ้น 4แนวซึ่งอยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาคือ รอยเลื่อนแม่สรวย รอยเลื่อนแม่ลาว  และอีก 2รอยเลื่อนใหม่ที่อยู่ใกล้เคียงคือรอยเลื่อนเชียงรายและรอยเลื่อนพานซึ่งยังไม่มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ “เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย6.3 ริกเตอร์ น่าสนใจ เนื่องจากความคิดเดิมที่บอกว่าเกิดจากแผ่นดินไหว 1 ตัวและทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมามากขนาดนี้  ในประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจึงมองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างผิดปกติ จึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตามหลักการวิทยาศาสตร์ ซึ่งพบว่า แผ่นดินไหว 1ครั้ง แล้วเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมานั้น ไม่ควรมีรัศมีตามความยาวรอยเลื่อนเกิน 5กิโลเมตร   ซึ่งเกินกว่านั้นมองว่าไม่น่าเป็นไปได้ในทาง ธรณีวิทยา  นอกจากนี้การใช้จีไอเอสทำให้พบกลุ่มรอยเลื่อนใหม่ที่น่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว6.3 ริกเตอร์ที่จังหวัดเชียงราย และอาจเป็นแผ่นดินไหวที่เรียกว่าเป็น MultipleEarthquake ของแผ่นดินไหวหลักทั้งหมดอย่างน้อย 10ครั้ง  โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเชียงราย(ชื่อไม่เป็นทางการ) ซึ่งประกอบด้วยรอยเลื่อน 4 แนวที่มีการเคลื่อนตัวสัมพันธ์กันทำให้เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่อง” ศาสตราจารย์ดร.ธนวัฒน์   กล่าว ด้านนายสุวิทย์ โคสุวรรณ   ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี   กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายพบรอยแตกกระจัดกระจายในหลายพื้นที่แต่จะมีมากบริเวณรอยเลื่อนแม่ลาวและแม่สรวยทั้งนี้ยังยืนยันว่าการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นการเกิดเมนช็อคครั้งเดียวและเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาทั้งนี้ข้อมูลตำแหน่งการเกิดแผ่นดินไหวอาจคลาดเคลื่อนได้มากกว่า 10 กิโลเมตร   ซึ่งคาดว่าอาฟเตอร์ช็อคในระดับ3 ริกเตอร์ ที่ประชาชนสามารถรับรู้ความสั่นไหวได้น่าจะยังมีอยู่จนถึงสิ้นเดือนนี้ สำหรับข้อสงสัยที่ว่าการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนแม่จันซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้หรือไม่นั้นผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  กล่าวว่าจากการนำข้อมูลธรณีฟิสิกส์มาสร้างแบบจำลองทำให้สามารถประเมิณได้ว่าผลจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่กระทบถึงรอยเลื่อนแม่จันอย่างแน่นอน   

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : จุฬาชี้อาฟเตอร์ช็อคเชียงรายอาจเป็นแผ่นดินไหวกว่า10ครั้ง

Posts related