นายพงษ์อาจ  ตรีกิจวัฒนากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ ก.พ.ร.จะเสนอโครงการยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ให้กับคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาเห็นชอบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะการลดขั้นตอนการขออนุญาตเข้ามาประกอบธุรกิจให้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมามักพบปัญหาว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มาติดต่อกับหน่วยงานราชการหลายแห่ง ไม่ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการขอใบอนุญาต และยังเสียค่าใช้จ่ายกับเอกสารที่ต้องยื่นให้หน่วยงานราชการเป็นจำนวนมากด้วย นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ ก.พ.ร. กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคสช.แล้ว เหลือแต่การเสนอรายละเอียดความชัดเจนของโครงการเข้าไปให้พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง คาดว่า จะใช้งบประมาณหลาย 100 ล้านบาท โดยถ้าผ่านการเห็นชอบจากคสช.ให้ดำเนินโครงการแล้ว ในระยะแรก ตั้งแต่ปี 58 จะเริ่มขั้นตอนการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เสร็จ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือภาคประชาชน จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลประชาชนลดภาระในการติดต่อราชการ ทั้งทะเบียนราษฎร์ทะเบียนบ้าน ประกันสังคม และ เบี้ยช่วยเหลือต่างๆ ส่วนภาคธุรกิจ จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลนิติบุคคล ให้สะดวกในการอนุมัติหรือขออนุญาต เช่น ขออนุญาตก่อสร้าง รง. 4 และการส่งออก 5 สินค้าหลัก และภาคการท่องเที่ยวจะเพิ่มขีดความสามารถของงการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชน  เช่น การให้ข้อมูลและจองตั๋วรถโดยสาร ควบคู่กับปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ขณะที่ในระยะที่ 2จะเป็นการขยายผลการเชื่อมโยงข้อมูลจากระยะแรกให้ครอบคลุมงานด้านต่างๆมากขึ้น และในระยะสุดท้ายในปี 60การเชื่อมโยงข้อมูลและระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะช่วยยกขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาคอร์รัปชั่นให้ลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในแผนงานขั้นแรกเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ ก.พ.ร.ได้จัดทำคู่มือการประกอบธุรกิจในไทย2558 เพื่อให้นักลงทุนได้เข้าใจกระบวนการดำเนินธุรกิจในไทยได้อย่างถูกต้องในแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจจนถึงปิดกิจการ โดยจัดทำออกมาเป็น 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น เผยแพร่ทางเว็ปไซด์ ก.พ.ร. และแจกให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งการจัดทำคู่มือดังกล่าว ถือเป็นข้อมูลที่ทางธนาคารโลกจะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดอันดับ ความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของไทย ซึ่งล่าสุดไทยยังอยู่อันดับที่ 18 จาก 189 ประเทศทั่วโลก โดยได้ตั้งเป้าหมายให้ติด 1 ใน 10 ประเทศภายใน 3 ปีจากนี้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชงคสช.ไฟเขียวยกระดับบริการภาครัฐ

Posts related