นายวิชัย อัศรัสกรรองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าฯ เตรียมหารือแนวทางช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนกรณีที่ยังไม่ได้รับเงินในโครงการรับจำนำข้าวเนื่องจากได้รับทราบจากสมาชิกหอการค้าในจังหวัดต่างๆว่ามีชาวนาจำนวนมากเริ่มไปกู้เงินนอกระบบในอัตราดอกเบี้ย3-5% ต่อเดือน หรือ 30-50% ต่อปี  เพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว ค่าปุ๋ยค่ายาฆ่าหญ้า และอื่นๆ โดยจะมีการนำเรื่องนี้ไปหารือกับสมาคมธนาคารไทยเกี่ยวกับการผ่อนปรนการนำใบประทวนในโครงการรับจำนำข้าวเป็นหลักทรัพย์มาค้ำประกันขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเงินกู้นอกระบบ“ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าใบประทวนนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้มากน้อยแค่ไหนแต่ทางหอการค้าไทยมีความประสงค์จะช่วยชาวนาด้วยนอกเหนือจากการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกแล้วเพราะเห็นดอกเบี้ยที่ชาวนาไปกู้เงินนอกระบบ 30-50% แล้วตกใจมาก ซึ่งเรื่องก็คงจะไปหารือกันกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยหอการค้าไทย,สมาคมธนาคารไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”นายวิชัยกล่าวว่า ตอนนี้ยอมรับว่าภาคเอกชนจะต้องมีส่วนยื่นมือเข้าไปช่วยประเทศในหลายๆเรื่องทั้งเรื่องปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการรวมกลุ่มกันใน 7 องค์กรภาคเอกชนการเข้าไปเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเข้าไปหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มต่างๆที่ได้รับความเดือดร้อนเท่าที่ภาคเอกชนพอมีกำลังซึ่งเรื่องของชาวนาก็จะมีการหารือกันว่าภาคเอกชนจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง  ขณะเดียวกันหอการค้าไทยเตรียมหารือหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความรุนแรงโดยจะเน้นความช่วยเหลือการขาดแคลนสภาพคล่องของธุรกิจ การหาช่องทางตลาดใหม่ๆและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี58 เพราะหากไม่เร่งช่วยเหลืออาจทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยอ่อนแอลงทุกวัน “เรื่องปัญหาสภาพคล่องนั้นส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอีบางรายเริ่มที่จะมีสต๊อกของวัตถุดิบและสินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่อง”ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้สมาคมชาวนาไทยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินให้ชาวนาเนื่องจากเจ้าของร้านปุ๋ยและยาฆ่าหญ้าเริ่มทะยอยทวงหนี้จากชาวนารวมถึงคิดอัตราดอกเบี้ยชาวนาที่เป็นลูกค้าเพิ่มอีก 1% จากปกติที่เฉลี่ย 3% ต่อเดือนเป็น 4% ต่อเดือนหลังจากชาวนาจำนวนมากยังไม่ได้จ่ายค่าปุ๋ยและค่ายา 3-4 เดือนแล้ว เพราะได้รับผลกระทบจากรัฐบาลที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าข้าวในโครงการจำนำข้าวส่งผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวได้สร้างภาระต้นทุนของครอบครัวแก่ชาวนาอย่างมาก”ปกติ ชาวนาที่ไปซื้อปุ๋ยซื้อยาฆ่าหญ้าก็จะเอาสินค้ามาก่อนแล้วจ่ายเงินภายหลังจากที่ได้เงินจากการ ขายข้าวซึ่งร้านค้าก็จะคิดดอกเบี้ยเดือนละ 3% ของค่าสินค้าส่วนใหญ่ชาวนาก็จะซื้อของเหล่านี้ประมาณครัวเรือนละ40,000-50,000 บาทต่อการทำนา 1 ฤดูกาลแต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนแล้วแต่ชาวนาไม่ได้จ่ายเงินส่งผลให้เจ้าของร้านก็ออกมาทวงหนี้หากจ่ายไม่ได้ภายใน 2-3 เดือนในเดือนถัดไปก็มีการขอขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มหากชาวนาไม่ยอมในครั้งต่อไปทางร้านก็ไม่ยอมขายปุ๋ย ขายยาฆ่าหญ้าให้”ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ขณะนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีในทุก ๆภูมิภาคยังคงประสบปัญหาเรื่องต้นทุนสินค้า และบริการ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปัญหาหลักคือ สินค้าหรือบริการเริ่มที่จะมีคุณภาพและความแตกต่างลดลง เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น   “ธุรกิจเอสเอ็มอีบางส่วนเริ่มที่จะมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในสัดส่วนที่มากเกินไป,   บางรายเกิดปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่อง,ธุรกิจเอสเอ็มอียังคงมีการลงทุนเพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ทั้งด้านวิจัยและด้านซีเอสอาร์อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ”นายอิสระกล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ทำให้หอการค้าฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีและได้กำหนดเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดโดยจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ มีการจัดสัมมนา “เอสเอ็มอี…วิธีทำเงิน” เพื่อกระตุ้นให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและหาทางแก้ไข เพื่อรองรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ภายใต้ความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงในอนาคต

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชง กกร.ช่วยชาวนาหลังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว

Posts related