กระแสข่าวคราวเรื่องพลังงานในประเทศ ไทย ได้สร้างความสับสนให้กับคนไทยมาอย่างยาวนาน และต่อเนื่อง สารพัดคำถามที่ถูกตั้งขึ้น โดยที่ยังไม่มีคำตอบที่กระจ่างให้เชื่ออย่างสนิทใจ ทั้งทำไมไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ทั้งที่ไทยอู้ฟู่แหล่งทรัพยากรปิโตเลียมมหาศาล? หรือทำไมคนไทยต้องใช้ราคาแพง ทั้ง ๆ ที่บ้านเราไม่ได้ขาดแคลนน้ำมัน? ที่สำคัญหลาย ๆ ข้อมูลยังเป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนของคนกลุ่ม ๆ หนึ่ง ที่คอยออกมาโจมตีเป็นระยะ ๆ ได้สร้างความอึดอัดใจให้กับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงาน จนต้องรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงานกว่า 30 คน ก่อตั้ง “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” นำโดย “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” อดีตรมว.พลังงาน “มนูญ ศิริวรรณ” นักวิชาการด้านพลังงาน “คุรุจิต นาครทรรพ” รองปลัดกระทรวงพลังงาน “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” ผอ.สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย “ทวารัฐ สูตะบุตร” รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน “กลุ่มของพวกเราตั้งขึ้นมา เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ เพราะข้อมูลต่าง ๆ ที่นำเสนอโดยคนบางกลุ่ม เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาพลังงาน จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ รวมทั้งไม่ได้ต้องการตำแหน่งอะไร และตอนนี้ก็ไม่มีใครมาทาบทามตนให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ แต่ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้ที่ถูกต้อง”  ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน ระบุถึงจุดประสงค์การก่อตั้งกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ทั้งนี้จากการระดมสมองจากทุกฝ่ายในกลุ่มฯ ได้ข้อเสนอในการปฏิรูปพลังงานรวมทั้งสิ้น 6 ข้อ โดยอยากให้รัฐบาลใหม่ ปฏิรูปไปพร้อม ๆ กันทุกข้อ คือ 1.ปรับโครงสร้างราคาพลังงานประเภทต่าง ๆ ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้พลังงานกลุ่มต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซล และก๊าซแอลพีจี ราคาถูกบิดเบือนมานาน และได้ผลักภาระให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ต้องใช้ราคาแพงแทน ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนใช้มอเตอร์ไซค์ และกลุ่มเกษตรกร ที่มีรายได้ไม่สูงมาก ถ้าหากปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลแล้ว มองว่า จะกระทบค่าขนส่งและราคาสินค้านั้น เรื่องนี้อยากถามกลับว่า ที่ผ่านมารถขนส่งได้เปลี่ยนไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงนานแล้ว และเชื่อว่าทางกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลสินค้าด้วยความเป็นธรรมอยู่แล้ว ต่อไปรัฐบาลใหม่ ต้องเลิกนำราคาพลังงานมาเป็นนโยบายประชานิยมอีกต่อไป 2.เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงาน ไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค โดยให้กิจการที่มีการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า 3.ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ไม่ควรให้ปลัดกระทรวงพลังงาน หรืออธิบดีต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบาย มานั่งในบอร์ดบริษัทน้ำมัน และควรให้ภาครัฐลดการถือหุ้นใน บมจ. ปตท. ให้ต่ำกว่า 50% เพื่อให้พ้นสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกในรัฐวิสาหกิจได้ง่าย และให้มีการแข่งขันที่อิสระอย่างแท้จริง 4.ปรับปรุงกระบวนการในการกำหนดนโยบาย และการขออนุญาต โดยตั้งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแบบอีไอเอของสหรัฐ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง และทำหน้าที่ในการเผยแพร่ที่สมบูรณ์ ลดความซ้ำซ้อนในการขออนุญาตต่าง ๆ เช่น การขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ทั้งที่กระทรวงพลังงานมี พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงานแล้ว 5.สำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน เช่น เพื่อสร้างความมั่นใจในข้อมูลและความโปร่งใส 6.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ขณะที่ “มนูญ ศิริวรรณ” นักวิชาการด้านพลังงาน มองว่า จุดประสงค์การปรับโครงสร้างราคาทั้งระบบ เพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้พลังงานทุกกลุ่ม ไม่ได้ต้องการที่จะปรับขึ้นราคาพลังงาน เพราะโครงสร้างราคาพลังงานทุกวันนี้มีการบิดเบือนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้เบนซิน 95 ราคาปัจจุบัน 49.15 บาท เป็นการเสียภาษี และเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงถึงลิตรละ 21 บาท คิดเป็น 44% ของราคาขายปลีก เพราะต้องนำเงินมาอุ้มน้ำมันดีเซล ที่เสียภาษีเพียงลิตรละ 0.05 บาท ทำให้รัฐสูญรายได้ 3 ปี รวม 300,000 ล้านบาท ขณะที่ต้องอุ้มราคาแอลพีจีมากกว่า 5 ปี รวม 200,000 ล้านบาท รวมการอุดหนุนทั้งน้ำมันดีเซลและแอลพีจีแล้ว 500,000 ล้านบาท ความเสียหายไม่ต่างจากนโยบายจำนำข้าวเช่นกัน ทั้งที่ราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาน้ำมันดีเซล และเบนซินต่างกันเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ของไทยต่างกันถึง 10-20 บาท และหากจะช่วยเหลือก็ควรช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่ใช่ทุกกลุ่ม   “คุรุจิต นาครทรรพ” รองปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ที่ผ่านมาข้อมูลพลังงานของไทยถูกกลุ่มคนบิดเบือนข้อเท็จจริงมานาน โดยเฉพาะประเด็นทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องพลังงาน ต้องได้ใช้ราคาถูก ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย มีให้ใช้เหลือไม่ถึง 10 ปี และมีแนวโน้มต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น เพราะไทยยังไม่สามารถเปิดสัมปทานแหล่งอื่นเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบตรงกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ถ้าต่อไปแพงขึ้นถึงหน่วยละ 4.50 -5 บาท เชื่อว่า ภาคอุตฯ ต่าง ๆ จะเริ่มมีปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จะเริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น จะส่งผลกระทบในภาพรวมต่อระบบเศรษฐกิจแน่นอน   ณ เวลานี้ ถือเป็นโอกาสดี ที่ไทยกำลังเข้าสู่ระบบการปฏิรูปทุกโหมดอย่างจริงจัง และพลังงานไทย ก็ถือเป็นอีกนโยบายที่สำคัญ ที่ต้องเร่งปฏิรูป หลังจากถูกบิดเบือนมานาน และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์จากนักการเมือง เพราะหากยังปล่อยให้โครงสร้างราคาถูกบิดเบือนด้วยการสร้างข้อมูลเท็จอีกต่อไป สุดท้ายกรรมก็จะย้อนกลับมาให้ประชาชนแบกรับภาระที่หนักหน่วงกว่าเดิมอยู่ดี. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชง 6 ข้อปฏิรูปพลังงานไทย จี้เลิกประชานิยมราคาเพี้ยน

Posts related