เมื่อเวลา 7.00น. วันที่ 24ธ.ค.นี้  สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบเหตุรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง  จนต้องหยุดให้บริการตั้งแต่ในช่วงเช้าของวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนที่ยังไม่ทราบข่าวรถหยุดให้บริการ มายืนรอที่สถานีจำนวนมาก ดังนั้นต่อไปบีทีเอสจะต้องมีการปรับปรุงการสื่อสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวให้ประชาชนรู้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้ง นี้ ยอมรับว่าการหยุดให้บริการของบีทีเอสในช่วงเช่าได้ส่งผลกระทบกับการเดินทาง ของประชาชนจำนวนมาก ต้องเปลี่ยนไปเดินทางรูปแบบอื่น ทั้งแท็กซี่ รถเมล์ รถตู้ ส่งผลให้การจราจรทางถนนติดขัดอย่างหนัก เบื้องต้น กระทรวงคมนาคมได้แก้ไขปัญหาด้วยการประสานให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสม ก.) เพิ่มจำนวนรถเมล์ในเส้นทางที่ทับซ้อนกับบีทีเอสให้มากขึ้น รวมทั้งให้นำรถชัตเติล บัส 10 คัน ออกมาวิ่งให้บริการฟรี เพื่อช่วยเร่งระบายผู้โดยสารที่ตกค้างจากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสวนจตุจักร ไปยังบริเวณอนุสาวรีย์ และสีลม นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ยังประสานไปยัง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้เตรียมเจ้าหน้าที่และพนักงานไว้คอยอำนวยความสะดวก ในการรองรับการถ่ายโอนผู้โดยสารจากบีทีเอสมายังรถไฟฟ้าใต้ดินด้วย  โดยเฉพาะทางเชื่อมต่อสถานีของบีทีเอส บริเวณสถานีสวนจตุจักร ศาลาแดง และอโศก และให้มีการตั้งโต๊ะขายตั๋วรายวันเพิ่ม เพราะผู้โดยสารที่ถ่ายโอนมาส่วนใหญ่ยังไม่มีตั๋วเดือนของรถไฟฟ้าใต้ดิน “วันทำงานปกติจะมีคนเข้ามาใช้บริการบีทีเอสเฉลี่ยประมาณ 6-7 แสนเที่ยวต่อวัน หากคิดเฉพาะช่วงเช้าหรือระยะเวลาเร่งด่วน จะมีประมาณ2-3 แสนเที่ยวต่อวัน ขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินปกติรองรับคนได้ประมาณ 2 แสนเที่ยวต่อวันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อคนจากบีทีเอสแห่กันมาใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินมากขึ้น  ทำให้เกิดปัญหาคอขวดที่จุดขายตั๋ว จะเห็นได้ว่าคนรอเข้าคิวซื้อตั๋วแบบหยอดเหรียญยาวมาก รอนนานกว่าครึ่งชั่วโมง ผมจึงสั่งการให้ตั้งเคาเตอร์ขายตั๋วรายวันเพิ่ม รวมทั้งให้รักษาระยะความถี่การให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงละ3 นาที ออกไปจนถึงช่วงสาย เพื่อเร่งระบายผู้โดยสารออกจากระบบ”   นอก จากนี้ ยังขอความร่วมมือให้เรือคลองแสนแสบเพิ่มความถี่ในการให้บริการในช่วงชั่วโมง เร่งด่วนออกไปจนถึงช่วงสาย  เพื่อรองรับประชาชนจากบีทีเอส สถานีสุขุมวิท ที่จะเดินทางมาจากคลองตัน ซึ่งจากรายงานทราบว่ามีประชาชนเข้าไปใช้บริการเรือคลองแสนแสบจำนวนมากกว่า ปกติ นายชัชชาติกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้รถไฟฟ้าบีทีเอสหยุดวิ่งว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่บีทีเอสแจ้งว่า เกิดจากระบบอาณัติสัญญานขัดข้อง เนื่องจากบีทีเอสได้ติดตั้งระบบซอฟแวร์ควบคุมประตูกันตกบริเวณสถานีเข้าไปยังศูนย์ข้อมูลกลาง  และเกิดปัญหาส่งสัญญานผิดพลาดจนส่งผลกระทบไปยังระบบอาณัติสัญญานที่ควบคุมการเดินรถทำให้การเดินรถต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ธ.ค. ได้มอบมายให้นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม  เรียกประชุมทุกหน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบดูแลระบบขนส่งสาธารณะ หามาตรการรองรับรวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก โดยเฉพาะในช่วง เทศกาลปีใหม่ ที่มีประชาชนเดินทางจำนวนมาก ต่อมาเวลา 14.30 น. นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชน เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กรมการขนส่งทางบก บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีเอ็มซีแอล กรมเจ้าท่า และกรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดมาตรการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อกรณีเกิดเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง โดยประเมินว่า เหตุรถไฟฟ้าบีทีเอสเสียเมื่อช่วงเช้า ได้กระทบต่อผู้ใช้บริการ 2-3 แสนคน ทำให้คนส่วนใหญ่หันไปใช้รถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มขึ้น หลายหมื่นคน เช่นเดียวกับรถ ขสมก. เรือด่วน แท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง สำหรับแนวทางแก้ปัญหาได้ข้อสรุปว่า ต่อไปรถไฟฟ้าบีทีเอส และกระทรวงคมนาคมต้องประสานข้อมูลอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทราบทันทีหากเกิดปัญหาไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชรับทราบ และจัดเตรียมรถเมล์ เรือโดยสาร หรือรถไฟ ไว้รองรับประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดย ขสมก.จะเป็นหน่วยงานหลักในการขนส่งผู้โดยสาร เตรียมรถเมล์สำรองไว้ทุกจุด โดยเฉพาะจุดที่ใช้บริการมาก เช่น สถานีสีลม สถานีสุขุมวิท  ขณะเดียวกันยังให้กรมการขนส่งทางบกส่งผู้ตรวจประมาณ 100 คน และผู้ตรวจของ ขสมก.ออกไปให้บริการประชาชนตามจุดต่างๆบนท้องถนนด้วย รวมถึงบริการรถไฟฟ้าใต้ดิน และการจองตั๋วให้เพียงพอ “เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นจากระบบขนส่งมวลชนที่ไม่สามารถให้บริการได้ จะต้องประกาศข่าวแจ้งประชาชนให้ทราบทันที เพราะเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ธ.ค.56 เกิดความวุ่นวายมาก เพราะคนไม่รู้ว่าเกิดปัญหาขัดข้องของรถไฟฟ้าบีทีเอส หากรับรู้ก่อนจะสามารถหลักเลี่ยงไปใช้บริการอื่นได้ทัน และหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะประสาน กทม.ให้ตั้งทีมทำงานร่วมกันบริหารความเสี่ยง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอีก”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : “ชัชชาติ” ระดมรถเมล์ -รถไฟฟ้าใต้ดินระบายคนตกค้าง

Posts related