นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 13 – 21 ม.ค. ปริมาณผู้ที่มาขออนุญาตการตั้ง และขยายโรงงานในกรุงเทพฯลดลงกว่า 50% เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนไม่ทราบว่ากรอ. ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรม ปิดทำการมา 9 วัน ซึ่งอาจส่งผลให้ยอดการตั้งและขยายโรงงานในไตรมาส 1 ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติกรอ. จะเร่งดำเนินงานอนุมัติใบอนุญาตให้เร็วที่สุด เพื่อให้การลงทุนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  สำหรับโรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดนั้น ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เพราะสามารถขอใบอนุญาตตั้งโรงานได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนโรงงานที่มีเงินลงทุนสูงกว่า200 ล้านบาท ที่ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ยังดำเนินงานตามปกติโดยสัปดาห์หน้า จะมีประชุมอนุมัติตั้งโรงงานดังกล่าวต่อไป  ขณะที่การขออนุญาตนำเข้าส่งออกและผลิตสารเคมีนั้น ยังคงทำได้ตามปกติ เพราะส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานผ่านระบบออนไลน์ทำให้ภาคการผลิตไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ นายสมชาย หาญหิรัญผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยในไตรมาสแรกของปีนี้เชื่อว่าจะยังลดตัวลงต่อเนื่องจากปี 56 เนื่องจากข้อมูลการฟื้นตัวขอเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน  ซึ่งที่ผ่านมา สศอ.ประเมินว่า ปีนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก แต่การฟื้นตัวของแต่ละประเทศ ยังไม่มีความชัดเจนเช่น สหรัฐอเมริกา แม้ตัวเลขการว่างงานลดลง แต่การลดลงดังกล่าวเกิดจากแรงงานหางานทำไม่ได้ส่วนญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มเพราะเศรษฐกิจดี มีความต้องการใช้จ่ายเพิ่มแต่เป็นการเพิ่มขึ้นเพราะค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนยุโรปหลายประเทศการว่างงานก็ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม สศอ.ยังอยู่ในช่วงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งใน และต่างประเทศ โดยยังไม่ปรับประมาณการที่คาดว่า ปี57 จีดีพีอุตสาหกรรมจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3-4%และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ขยายตัว 2% ส่วนยอดการนำเข้าสินค้าทุนสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ในการผลิตในช่วงปลายปี 56ที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า จะเห็นการส่งออกในไตรมาสแรกลดลงได้เพราะการผลิตเพื่อส่งออกในไตรมาสแรกจะนำเข้าวัตถุดิบตั้งแต่ปลายปีก่อนหน้าแต่การนำเข้าที่หดตัวนี้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอาจจะชะลอดูสถานการณ์และใช้สต๊อกเก่าในการผลิตไปก่อน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผลประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าผู้ประกอบการค่อนข้างกังวลกับสถานการณ์การเมืองและทำให้ตัวเลขประมาณการต่างๆยังไม่นิ่งโดยหลายธุรกิจก็เตรียมจะปรับเป้าหมายใหม่เพราะพบว่ากำลังซื้อของประชาชนหายไปมากนอกจากนี้ที่น่าห่วงอีก คือการลงทุนเอกชน เนื่องจากพบว่าการลงทุนลดลงต่อเนื่องเช่นล่าสุดเดือนพ.ย. 56 ก็ลดลง 7-8%และทางด้านการส่งออกก็น่าห่วง เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่ลดลงแสดงให้เห็นว่าการส่งออกในอนาคตจะลดลงอีกโดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไตรมาสแรกนี้ คงดังไม่สดใส

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชัตดาวน์ฯ ทำยอดขอตั้งโรงงานร่วง

Posts related