รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ช่วง 6 เดือนแรกปี 56 โดยสำรวจครัวเรือนตัวอย่าง 26,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศ พบว่า ครัวเรือนหนี้สินมากถึง 54.4% โดยมีหนี้สินเฉลี่ย 159,492 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน คือ ซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ใช้อุปโภคบริโภค และเป็นหนี้เพื่อใช้ในการศึกษา ขณะที่หนี้สินเพื่อใช้ในการลงทุนและอื่น ๆ นั้น พบว่า ส่วนมากเป็นหนี้ที่ใช้ทำการเกษตร และใช้ในธุรกิจ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาว่า แต่ละครัวเรือนมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบเท่าใดนั้น พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ โดยครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียวมีถึง 91.6% และครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในระบบ นอกระบบ 3.8% ส่วนครัวเรือนที่มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว มีเพียง 4.6% ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า จำนวนเงินเฉลี่ยของครัวเรือนที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่าหนี้นอกระบบสูงถึง 50 เท่า โดยหนี้สินในระบบมีอยู่ 156,356 บาท ส่วนหนี้นอกระบบมีอยู่ 3,136 บาท ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณารายได้ค่าใช้จ่าย และหนี้สินของครัวเรือนเป็นรายภาค พบว่า กทม. และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่า ภาคอื่นมาก คือ 44,129 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายและหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงเช่นเดียวกัน คือ 33,095 บาท และ 283,560 บาท ตามลำดับ และมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้ 75% นอกจากนี้ยังพบว่า ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดถึง 79.1% ซึ่งจะทำให้เกิดการออม หรือชำระหนี้ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับครัวเรือนในภาคเหนือที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่าย ต่อรายได้ต่ำสุด คือ 72% ทำให้เก็บออม และมีเงินชำระหนี้ได้มากกว่าภาคอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ได้ลดลงจากปี 47 คือ 7 เท่า เป็น 5.8 เท่าในปี 54 แต่กลับเพิ่มขึ้นมากในปี 56 อาจมีเหตุผลมาจากหลายครัวเรือนได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในปี 54 ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และผลผลิตทางการเกษตร จึงทำให้เกิดการก่อหนี้เพื่อฟื้นฟูความเสียหายดังกล่าว ทั้งนี้หากพิจารณาถึงด้านรายได้นั้น พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 25,403 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน 73.5% ได้แก่ ค่าจ้างและเงินเดือน กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจ และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตรและมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน และรัฐ รายได้จากทรัพย์สิน เช่นดอกเบี้ย รวมทั้งยังมีรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินที่อยู่ในรูปสวัสดิการ สินค้า และบริการต่าง ๆ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชาวบ้านหนี้พุ่ง!! ครึ่งปี 56 ครัวเรือนละ 1.59 แสนบาท

Posts related