นายกฤษณ์ จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุน ประกันภัยและธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า  การใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยลงนั้น ธปท.ต้องประเมินรายละเอียดอย่างรอบคอบ  เพราะถ้าลดดอกเบี้ยจะเป็นแรงหนุนให้เงินไหลออก และอาจไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนมากนัก เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง  “เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้มากกว่า 2-3% หากปัญหาการเมืองคลี่คลายได้ในช่วงครึ่งปีแรก และมีรัฐบาลใหม่ที่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว  รวมถึงการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ตามเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย  แต่หากปัจจัยต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้มีโอกาสที่ศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 2% แน่นอน” นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย  กล่าวว่า  เศรษฐกิจไทยมีโอกาสชะลอตัวในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีนี้ หากสถานการณ์การเมืองในประเทศยังไม่คลี่คลาย  ประกอบกับภาวะเงินทุนไหลออกต่อเนื่อง  เพราะนโยบายการลดขนาดกระตุ้นเศรษฐกิจหรือคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด  แม้จะส่งผลดีให้ภาคส่งออกได้รับอานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่า แต่การไหลออกของเงินทั้งในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก(ม.ค.-มิ.ย.) อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจทำให้จีดีพีขยายตัวได้ต่ำกว่า 2% ตามที่หน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งประเมินไว้  “ต้องยอมรับว่าปัญหาการเมืองในประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน การท่องเที่ยวชะลอตัว แม้การส่งออกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นแต่ต้องติดตามว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่อเนื่องหรือไม่” สำหรับการใช้นโยบายดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ตัดสินใจ โดยในระยะสั้นหากธปท.ต้องการช่วยให้เกิดความมั่นใจต่อการลงทุน อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง แต่หากมองปัจจัยระยะยาวในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของไทย จำเป็นต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ระดับเดิมไว้ที่ 2.25% ต่อปี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ชี้ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยกระตุ้นศก.

Posts related