นายสุธี อัศวสุนทรางกูร  ผู้จัดการประจำประเทศไทย และอินโดจีน ซอร์สไฟร์ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของซิสโก้ เปิดเผยว่า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีพัฒนาการที่โดดเด่นอย่างมาก จากคอมพิวเตอร์ที่เคยใช้งานอยู่บนโต๊ะมาใช้งานอยู่บนตักแทน จากนั้นย้ายเข้าไปอยู่ในกระเป๋าและในที่สุดก็อยู่บนร่างกายของเรา  ไอดีซีได้คาดการณ์ว่า ตลาดของอุปกรณ์แวราเบิล(wearable)หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่จะมีมากถึง 19,000 ล้านชิ้นในปี2014 ซึ่งเป็นแรงผลักดันมาจากบรรดาแก็ดแจ็ตทั้งหลาย คาดว่า ปี 2014 จะเป็นปีทองของแวราเบิล ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมากูเกิลได้เปิดตัวกูเกิลกลาส (เทคโนโลยีที่สวมใส่ในรูปของแว่นตา)ซึ่งมีเพียงไม่กี่พันชิ้นให้กับคนที่อยากทดลองเทคโนโลยีใหม่โดยเป็นรุ่นที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อซึ่งขายหมดภายในระยะเวลาแค่ไม่ถึงชั่วโมง “ในปัจจุบันผู้ใช้ต่างเชื่อมต่อตัวเองกับอินเตอร์เน็ตมากขึ้นทุกที สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคือ เรื่องของความเสี่ยงและสิ่งที่แฝงมากับอุปกรณ์ใหม่อย่างแวเรเบิลไม่ว่าจะเป็นสายรัดข้อมือสำหรับการออกกำลังกายที่สามารถมอนิเตอร์และจับข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเราโดยใช้GPS หากอีกมุมหนึ่งกลับเป็นการเปิดช่องให้ผู้ประสงค์ร้ายได้ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดกิจวัตรประจำวันและรูปแบบการใช้ชีวิตของเรารวมถึงที่อยู่ปัจจุบันไปได้เช่นกันและนี่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ผู้ไม่หวังดีจะสามารถดึงข้อมูลบางอย่างจากตัวเราและหากเป็นในแง่ขององค์กร ย่อมส่งผลกระทบได้มากกว่านั้น” นายสุธีกล่าว   นายสุวิชชา มุสิจรัลวิศวกรระบบรักษาความปลอดภัย ซอร์สไฟร์ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของซิสโก้ กล่าวถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรว่า เทคโนโลยีแวเรเบิลเป็นแค่อีกช่องทางโจมตีหนึ่งที่ต้องรับมือให้ได้และในฐานะที่เป็นส่วนขยายการใช้งานด้าน BYOD ธุรกิจควรมีนโยบายด้านการใช้งานข้อมูลและการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีแวเรเบิลแม้ว่าฝ่ายไอทีส่วนใหญ่จะมีแนวทางไว้รับมือกับประเด็นเรื่องของการเชื่อมต่อกับโซเชียลจากที่ทำงานการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์และ BYOD ได้อย่างปลอดภัยอยู่แล้วก็ตามทีแต่เรื่องของเทคโนโลยีแวเรเบิลก็ทำให้เกิดคำถามใหม่สำหรับการพัฒนาต่อยอดมาตรฐานเหล่านี้ในอนาคต    แม้จะมีความเสี่ยง แต่ประโยชน์ของ BYODและ เทคโนโลยีแวเรเบิลมีข้อดีเกินกว่าที่จะละเลย  และเพื่อควบคุมการใช้งานบนโลกโมบาย องค์กรต้องสร้างนโยบายที่จัดเจนในการกำหนดให้พนักงานนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งานได้อย่างเหมาะสมในองค์กรและต้องมีการตรวจสอบและควบคุมการบังคับใช้งานตามนโยบาย 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ซอร์สไฟร์ เตือนผู้ใช้ระวังความเสี่ยงบนข้อมือ

Posts related