ใกล้เข้ามาทุกที กับการเปิดเสรีเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ที่จะถึงนี้  ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศที่สมบูรณ์แบบที่สุด และด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ การลงทุนต่าง ๆ สิ่งที่จะช่วยให้ลดต้นทุนได้ดีที่สุดในยุคดิจิตอล คือการให้ซอฟต์แวร์มาช่วยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า เล่าว่า ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซี ในปีหน้านี้ ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และซิป้าก็ได้เน้นการนำผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยเข้าสู่เออีซี โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆ ด้วยงบประมาณปี 2557 ถึง 137 ล้านบาท ถือว่าเกือบครึ่งหนึ่งของงบรวมที่ได้อนุมัติ 309 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินการปีนี้ จะยังคงเดินตามแผนดำเนินงานปีที่ผ่านมา ซึ่งทำตามยุทธศาสตร์ของสำนักงานซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศและแผนแม่บทของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไอซีทีและแผนยุทธศาสตร์อาเซียนมาสเตอร์แพลนด้วย ในมิตินี้ ถือเป็นเรื่องที่ซิป้าพยายามทำอย่างต่อเนื่อง สำหรับงานที่ซิป้าจะต้องทำตามตัวชี้วัดของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. ที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ที่เป็นงานหลัก ๆ ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ การพัฒนาบุคลากรเข้าเออีซี ถือเป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญกับคนที่ต้องการได้มาตรฐาน โดยก่อนหน้านี้ไม่ได้เน้นเรื่องมาตรฐานสากลมากนักจะเป็นเพียงแค่การสอน แต่เนื่องจากการเปิดเสรีการค้า ทำให้ทุกประเทศจะต้องได้รับมาตรฐานสากลเพื่อความน่าเชื่อถือ โดยปีนี้ ตั้งเป้าให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยได้มาตรฐาน 1 พันราย เพื่อเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ซิป้าทำหลัก ๆ คือการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อก้าวสู่ตลาดภายนอก เพราะที่ผ่านมายังไม่มีความเหนียวแน่นมากพอ โดยสิ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการจะผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ tycoon chic โดยโครงการดังกล่าว เป็นหลักสูตรที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยให้ความรู้ที่หลากหลาย เช่น วิธีการทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้นักลงทุนสนใจในธุรกิจกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา แนวโน้มเทคโนโลยีใน 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขา ในส่วนของมาตรการส่งเสริมนั้น ถือเป็นการทำให้ซอฟต์แวร์ไทยได้ปกป้องตัวเอง ที่ซิป้าได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ ซิป้า ยังสนับสนุนในเรื่องของแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ที่ซิป้าได้เจรจากับนักลงทุน สถาบันการเงิน ถือเป็นโครงการที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น นายไตรรัตน์ เล่าว่า ซิป้า ยังผลักดันให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมการแพทย์ ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ เกษตร การศึกษา ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ ได้ใช้ซอฟต์แวร์ให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักด้วย โดยผ่านโครงการซิป้าคลินิก ที่ร่วมหอการค้าทั่วประเทศและสมาคมอุตสาหกรรม เพื่อให้คำปรึกษาแก่ ผู้ประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมในการใช้ซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยลดต้นทุนในรายอุตสาหกรรม “ตอนนี้ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะเป็นโอกาสที่นักลงทุนต้องลงทุน ถือเป็นขาขึ้น เพราะจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยปกติ 30% ถือเป็นต้นทุนสูง แต่หากมีระบบบริหารต้นทุนก็จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน การบริหารจัดการมีกระบวนการมากขึ้น ถ้าใช้เทคโนโลยีที่ดีจะเกิดประโยชน์ ดังนั้น ส่วนตัวมองว่าซอฟต์แวร์เป็นตัวสำคัญในการพัฒนาประเทศ เมื่อรวมเป็นมูลค่าแล้วถือว่าหลายล้านล้านบาท” นายไตรรัตน์ กล่าว ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่ช่วยพัฒนาคน ลดต้นทุน ถ้าทุกมิติ มีการช่วยลดต้นทุน รวมกันหลาย ๆ ล้านล้านบาทแล้ว ตนอยากให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2560 จึงอยากให้รัฐบาลที่บริหารประเทศปี 2560 เห็นความสำคัญ นายไตรรัตน์ เล่าว่า ขณะนี้ซิป้า พยายามสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนและนอกอาเซียน อย่าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งประเทศเหล่านี้ จะมาลงทุนในอาเซียนและไทยจะออกนอกอาเซียนอย่างไร ซึ่งตอนนี้ี้ได้มีโครงการที่ทำร่วมกับญี่ปุ่นแล้วเช่นกัน ในส่วนของภูมิภาคอาเซียนนั้น มองว่าจะเน้นในพื้นที่รอบบ้านเรา เช่น เขมร ลาว พม่า จะไม่มองประเทศอื่นมากนัก โดยลักษณะการดำเนินงานต่าง ๆ จะเน้นร่วมมือกับสมาคมหรือองค์กรหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศที่ดูแลในแต่ละอุตสาหกรรมเหมือน ๆ กับไทย เพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐ โดยเฉพาะการพาผู้ประกอบการไปแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และพบคู่ค้าทางธุรกิจ “ภาพรวมการจับคู่ธุรกิจปีที่ผ่านมาของผู้ประกอบการไทยรวมที่ไปจับคู่ต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้าน มีมูลค่าการซื้อขาย 600 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้  3.5 พันล้าน เป็นมูลค่าการซื้อขายราว 1-2 พันล้านบาท แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังน้อยกับตลาดโลก เนื่องจากไม่มีข้อมูลของซอฟต์แวร์รวมของตลาดโลก” ด้วยเทรนด์เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การเปิดเสรีการค้า การแข่งขันที่รุนแรง หากอุตสาหกรรมไหนใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่า ถือเป็นทางออกของธุรกิจในยุคปัจจุบัน. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ซิป้า ทุ่ม 137 ล. ปัดฝุ่นผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทยรับเออีซี

Posts related