มีผู้บริโภคหลายรายไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อรถยนต์ที่ใช้แล้ว หรือ “รถยนต์มือสอง”  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นการที่ผู้บริโภคประสบปัญหาจากการใช้บริการจากผู้ประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นเต็นท์ ศูนย์รถยนต์ และตลาดรถยนต์ ฯลฯ ซึ่งปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อรถยนต์ที่ใช้แล้ว ส่วนใหญ่ที่พบเกิดจากหลายกรณีไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรถยนต์ที่มีสภาพชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะเครื่องยนต์และช่วงล่าง รุ่นของรถยนต์ไม่ตรงตามที่ลงโฆษณา มีการแก้ไขเลขไมล์ของรถยนต์ให้น้อยลง ส่งมอบอุปกรณ์รถยนต์ไม่ครบถ้วน มีการนำรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมานานมาจำหน่าย  นำรถยนต์บางรุ่นบางยี่ห้อ ซึ่งมีปัญหาในการหาอะไหล่และช่างซ่อมมาจำหน่าย นอกจากนี้ในเรื่องเกี่ยวกับการบริการก็เป็นปัญหามิใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการโอนทะเบียนล่าช้าและยุ่งยาก โอนทะเบียนไม่ได้ หรือในเรื่องของราคาที่ไม่ได้มาตรฐาน   ไม่มีการรับประกันความชำรุดบกพร่องของรถยนต์หลังการขาย ไม่มีการบริการซ่อมหลังการขายรถยนต์มือสอง  ผู้ประกอบธุรกิจที่ขายรถยนต์ไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์  ปกปิดข้อมูลที่สำคัญของรถยนต์แก่ผู้บริโภค เต็นท์ขายรถยนต์ที่ใช้แล้ว มีการให้เช่าช่วงพื้นที่กันหลายทอดทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบว่าใครคือผู้ขายที่แท้จริง ผู้บริโภคทำสัญญาจองรถยนต์และชำระเงินกับพนักงานขาย แต่พนักงานขายกลับไม่นำเงินส่งเต็นท์ทำให้เต็นท์ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค    ปัญหาเกี่ยวกับการจัดไฟแนนซ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถขอจัดไฟแนนซ์ให้กับผู้บริโภคได้และไม่คืนเงินจองหรือเงินมัดจำแก่ผู้บริโภค ในส่วนของผู้บริโภคเองก็มีปัญหาที่ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์มือสองส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ชะล่าใจไม่ได้ตรวจสอบประวัติ สภาพรถยนต์ การรับประกันและคู่มือทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกก่อนซื้อ  อีกทั้งยังไม่ทราบเงื่อนไขการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทำให้หลงเชื่อคำชักชวนของผู้ประกอบธุรกิจ จนยอมตกลงซื้อรถยนต์และวางเงินจอง เหล่านี้เป็นเพียงปัญหาบางส่วนที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนมาที่ สคบ.  ในเบื้องต้นก่อนที่ผู้บริโภคจะซื้อรถมือสองสักคันจากเต็นท์รถ ต้องตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการได้จัดทำรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้บริโภคระบุลงในฉลาก ซึ่ง สคบ. กำหนดไว้ให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำโดยที่จะต้องติดแสดงไว้ประจำรถทุกคันที่จะขาย คือ ชื่อ ประเภทหรือชนิดของสินค้า ประเทศที่ผลิต (กรณีที่เป็นสินค้าที่สั่งหรือนำเข้า) ชื่อและสถานที่ประกอบการของผู้ขาย ขนาดหรือน้ำหนัก สมุดคู่มือการบำรุงรักษารถ (ถ้ามี) รุ่นปี ราคา (โดยระบุหน่วยเป็นบาท) วันจดทะเบียน เลขทะเบียน เลขตัวรถ เลขเครื่อง ยนต์ ยี่ห้อรถ ยี่ห้อเครื่องยนต์ สี ชนิดเชื้อเพลิง ชื่อ-นามสกุลของเจ้าของรถ ตามลำดับ การครอบครอง ภาระผูกพันของรถยนต์ที่มีอยู่ ในสาระสำคัญของรถยนต์ใช้แล้วนั้น และต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ นอกจากข้อมูลที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นแล้ว ยังจะต้องระบุข้อมูลการประสบภัย เช่น ถูกชน ถูกน้ำท่วม (ถ้ามี) หรือกรณีที่ถูกน้ำท่วมให้ระบุระดับของน้ำที่ท่วมตัวรถยนต์ เช่น ระดับพื้นรถยนต์ ระดับเบาะรถยนต์ ระดับเรือนไมล์แผงนวมหน้าปัด ท่วมทั้งคัน และระยะทางการใช้งานหรือชั่วโมงในการทำงานของรถ โดยให้ระบุข้อมูลด้วยตัวอักษรขนาดไม่ต่ำกว่าหนึ่งเซนติเมตร และให้เป็นไปตามที่ปรากฏในรายการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ตั้งแต่วันจดทะเบียนจนถึงวันที่จำหน่าย ต่อจากนี้ ถ้าผู้บริโภคท่านใดจะซื้อรถมือสอง ให้โปรดสังเกตฉลากที่ สคบ. กำหนดไว้ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ซื้อรถยนต์มือสองต้องดูฉลาก – ไขปัญหาผู้บริโภค

Posts related