คงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นไม่น้อย หากประเทศไทยมีทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ รวมถึงดารานักแสดงระดับโลกยกกองมาถ่ายทำภาพยนตร์กันในประเทศ ยิ่งเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ไปแล้ว เชื่อได้ว่า หลายประเทศในภูมิภาคนี้คงเป็นแหล่งถ่ายภาพยนตร์ชั้นดีที่ดึงดูดค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของโลกหอบเงินเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคให้เติบโตทัดเทียมกับซีกโลกตะวันตก โดยเฉพาะประเทศไทยเองที่มีแหล่งท่องเที่ยวอย่างหลากหลาย และรู้จักกันทั่วโลก จึงน่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์มากขึ้น “ดร.อรดล แก้วประเสริฐ” อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกในรายการ “เศรษฐกิจติดจอ” ทาง เดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ไทยมีความพร้อมมาก โดยเฉพาะสถานที่ต่าง ๆ ที่สามารถใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ เพราะที่ผ่านมาก็มีทีมภาพยนตร์ระดับโลกเข้ามาถ่ายทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้สร้างประโยชน์ตามมามากมาย ทั้งชื่อเสียงและรายได้ แต่ใช่ว่าจะมีแต่แง่ดีอย่างเดียว เพราะขณะที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้เติบโตนั้น ยังติดเรื่องข้อกฎหมายหลายอย่างที่ภาครัฐจำเป็นต้องแก้ไขให้สะดวกมากขึ้น เช่น ความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการอนุมัติให้ถ่ายทำภาพยนตร์ ต้องระบุออกมาให้ชัด เพื่อให้ผู้ที่ขอสามารถวางแผนและตัดสินใจได้ ขณะที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แน่นอนว่าเป็นผลดีกับไทยหลายเรื่อง แต่เรื่องของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อาจไม่ได้รับผลดีตาม เพราะหลาย ๆ ประเทศได้เข้ามาแข่งขันและอยากเป็นศูนย์กลาง โดยได้มอบสิทธิพิเศษมากกว่าที่ไทยให้ เช่น มาเลเซีย ลดภาษีให้คนมาทำภาพยนตร์ 10% เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโต ขณะที่ประเทศเนื้อหอมอย่างเมียนมาร์และ สปป.ลาว ที่เริ่มเปิดประเทศ หลายคนได้สนใจเข้าไปทำภาพยนตร์ ดังนั้นถ้าไทยยังไม่ปรับตัว หรือหาแนวทางส่งเสริมให้มากขึ้น ไม่แน่ในอนาคตอาจแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ได้ยาก  ทุกวันนี้… ความก้าวหน้าของภาพยนตร์ได้ปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกลง ทำให้คนข้ามาในวงการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่น่ากลัวที่กระทบกับไทยจากนี้ คือเรื่องของภาษาที่อาจสู้กับประเทศอื่นได้ยาก เพราะนอกเหนือจากภาษาสากล ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว คนไทยหรือคนทำหนังต้องเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน หรืออาเซียนด้วย เห็นได้ชัดว่า ตอนนี้อย่างคนสปป.ลาวหรือคนเขมร อ่านภาษาไทยได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก บางคนสามารถอ่านภาษาไทยได้อย่างแตกฉานเสมือนคนไทย ดังนั้นคนไทยต้องหันมาปรับตัว เข้ามาเรียนรู้เพราะถ้าเอาเข้าจริง คนไทยใช้เวลาเรียนแค่ 3 เดือนก็พอสื่อสารได้แล้ว “ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านที่ไหนน่ากลัวสุด ถ้าให้มองคือ ฟิลิปปินส์ ด้วยภาษา เทคโนโลยี จำนวนคนที่มาก และความหลากหลาย ความ เฉพาะทางของเกาะแก่งที่น่าสนใจ ขณะที่อินโดนีเซียก็น่าสนใจ แต่ยังไม่มีความเป็นสากลเท่ากับฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศที่เปิดใหม่ ทั้งเมียนมาร์ สปป.ลาว แม้ว่าคุณภาพของไทยตอนนี้จะนำหน้าและสู้ได้ แต่ในอนาคตยังไม่แน่นอน แต่ยังขาดมาก ๆ คือในเรื่องของภาษา ถือว่าสำคัญที่สุดเลย”  ทั้งนี้หากพิจารณาถึงข้อดีที่ไทยได้ประโยชน์ หากหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างเต็มที่ คงเป็นโอกาสที่ดีมาก เพราะตั้งแต่ก่อนการผลิต หลังการผลิต ระหว่างการผลิต มีการแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์ได้พาทีมผู้ถ่ายทำเข้ามา 200 คนมาอยู่เป็นเดือนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้ง ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าโรงแรมที่พัก สถานที่ เสื้อผ้า ถือเป็นการสร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดบางทีก็ยังใช้คนในพื้นที่เป็นตัวประกอบด้วย ส่วนข้อที่ไทยเสียเปรียบ ที่เห็นชัดที่สุดคือการจัดการที่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น การที่คนเข้ามาถ่าย บางคนถ่ายตรงนี้ได้ บางคนถ่ายตรงนี้ไม่ได้ ทำให้ไม่มีความชัดเจนหรือมีขอบเขตที่ไม่แน่นอน แม้แต่คนไทยเองก็เกิดเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ควบคุมต้องมีกฎชัดเจนแน่นอน ต้องระบุออกมาตรงไหนถ่ายได้ ตรงไหนถ่ายไม่ได้ เพื่อให้คนที่เข้ามาทำภาพยนตร์ได้รู้ว่า เขาต้องเริ่มต้นอย่างไร เพราะหนังต่างประเทศที่เข้ามานั้นจะมีค่าจ่ายสูงตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว นักแสดงคิดค่าเสียเวลาหากถ่ายหนังไม่ได้ตามกำหนด ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบ  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวทางการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยนั้น รัฐบาลได้กำหนดไว้เป็นนโยบายที่สำคัญ โดยประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์เอเชีย ซึ่งกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 2 (55-59) โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์เอเชียและแหล่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำคัญในตลาดโลก ทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอุตสาหกรรมภาพยนตร์คู่กับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และผลักดันให้ตั้งหน่วยงานมาดูแลงานภาพยนตร์โดยเฉพาะ พร้อมพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เติบโต ส่วนจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนนั้น เชื่อว่าอีกไม่นานก็คงได้รู้.. วสวัตติ์ โอดทวี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ดันหนังไทยรับเออีซี – เออีซีกับ ม.หอการค้าไทย

Posts related