นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ค้าระหว่างประเทศ (เทรดเดอร์)มากขึ้น โดยเป็นคนกลางรับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ไปจำหน่ายสินค้าในตลาดต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี, โอทอป และผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพในการทำตลาดน้อยให้สามารถระบายสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากจะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาลเหมือนกับประเทศสิงคโปร์ “กรมฯจะทะยอยการฝึกอบรมผู้ประกอบการที่สนใจการเป็นเทรดเดอร์ ซึ่งอาจจะนำสินค้าที่ผลิตได้เอง หรือนำสินค้าของผู้ผลิตรายอื่น ไปขายไปส่งออก โดยทำตัวเหมือนกับที่สิงคโปร์ทำ” ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทยเป็นรายกลุ่มสินค้า โดยจะโปรโมตผ่านนิตยสาร แม็กกาซีน โทรทัศน์ บิลบอร์ด ในประเทศเป้าหมาย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จัก และสร้างการยอมรับต่อสินค้าไทยและประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยดีขึ้นในสายตาต่างชาติ “ได้ขอให้ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศ ไปดูว่าสินค้าไทยที่มีขีดความสามารถในการบุกเจาะตลาด ก็ให้ไปทำประชาสัมพันธ์สินค้าไทยชนิดนั้น ๆ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และโปรโมตผ่านสื่อเฉพาะของสินค้านั้น ๆ เช่น อาหาร ก็จะเน้นหนังสือ นิตยสาร หรือรายการที่เกี่ยวกับอาหาร หรือ อัญมณี สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ก็จะใช้หลักการเดียวกันในการโปรโมต” นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับการทำตลาดแบบออนไลน์ โดยใช้สื่อออนไลน์มาเป็นตัวกลางในการเปิดตลาดให้กับสินค้าไทย เพราะแนวโน้มของโลกได้หันมาซื้อขายสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยสามารถค้าขายออนไลน์ได้แล้วมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งการผลักดันการส่งออกบริการใหม่ ๆ เช่น ดิจิตอล คอนเท็นต์ ได้แก่ ซอฟต์แวร์ เกมส์ เอนิเมชั่น เพลง ละคร และภาพยนตร์ รวมถึงบริการอีเว้นต์ ออแกนไนเซอร์ และโรงเรียนสอนหลักสูตรพิเศษ ซึ่งจะเน้นตลาดอาเซียนเป็นหลัก แล้วสิ้นปีจะต้องติดตามผลว่าเป็นอย่างไร ประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งจะขอใช้เป็นตัวชี้วัดการทำงานด้วย ทั้งนี้ ให้เน้นตลาดอาเซียนเป็นพิเศษ เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นางนันทวัลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการค้าที่แข่งขันกันรุนแรงในตลาดโลก กรมฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการให้ข้อมูลการลงทุนเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือแหล่งทุนให้แก่เอสเอ็มอี สร้างคลัสเตอร์ของผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศนั้น ๆ เพื่อเป็นหน้าด่านในการให้ข้อมูลลงทุน ทำอนุสัญญาภาษีซ้อน สนับสนุนเบี้ยประกันให้กับนักลงทุนขนาดกลางและเล็กในธุรกิจที่มีความเสี่ยง ส่วนระยะยาวต้องปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มบทบาทภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในการเป็นหัวหอกเข้าไปลงทุน รวมทั้งเพิ่มแรงจูงใจทางภาษีให้กับธุรกิจที่ไปลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ดันไทยเป็นพ่อค้าคนกลางขายของแข่งสิงคโปร์

Posts related