รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูง กระทรวงการคลัง ร่วมกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเร่งด่วนสูงที่พร้อมดำเนินการ โดยส่วนมาตรการสินเชื่อผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือน มิ.ย.57-ธ.ค.58 ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 11 มาตรการ จาก 8 แบงก์รัฐ คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 343,600 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ 140,000 ราย ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 58 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.8-1%“เชื่อว่ามาตรการสินเชื่อผ่านแบงก์รัฐ วงเงินรวม 343,600 ล้านบาทนั้น จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 57 และทั้งปี 58 รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่าย ส่งผลดีต่อจีดีพี ในปี 58 โดยเชื่อว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8-1% เมื่อเทียบกับการเบิกจ่ายงบโครงการจำนำข้าวในปี 57 ที่วงเงิน 92,000 ล้านบาท ที่กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 0.2%”ทั้งนี้ มาตรการผ่านแบงก์รัฐ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ในโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีสุขใจ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อระยะสั้นและระยะยาว วงเงินกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ปล่อยกู้ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) ปีที่ 1 ที่เอ็มแอลอาร์ -1 ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 10,000 ราย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โครงการเพิ่มสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน วงเงิน 25,000 ล้านบาท จำนวน 63,500 ราย สินเชื่อวิสาหกิจชุมชนวงเงิน 7,500 ล้านบาท จำนวน 10,437 กลุ่มวิสาหกิจ สินเชื่อผู้ประกอบการ 3,400 ล้านบาท และสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (บัตรสินเชื่อเกษตรกร) 30,000 ล้านบาท จำนวน 3 หมื่นรายขณะที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โครงการขยายสินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต 2 วงเงิน 3,000 ล้านบาท รวม 1,200 ราย โครงการสินเชื่อสนับสนุนผู้ประกอบการตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม 5,000 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการ 600 ราย และมาตรการป้องกันหนี้ตกชั้นเป็นหนี้เสีย โดยพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือนและเพิ่มวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน, ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โครงการขยายสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ธสน. 10,000 ล้านบาท ให้กับผู้ส่งออก 22,000 ราย, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาตรการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทนเอสเอ็มอีปีแรก วงเงิน 119,000 ล้านบาท และของบชดเชย 1,224 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 15,000 ราย มาตรการให้ความช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอี 5,000 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโอท็อป 10,000 ล้านบาท และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 6 เดือนนอกจากนี้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) โครงการเอสเอ็มอีฮาลาลเทรด วงเงิน 2,000 ล้านบาท ลูกค้ารายใหม่ 40 ราย โครงการสินเชื่อมาตรฐานเฟร็คซี่แอนด์ชัวร์ วงเงิน 4,800 ล้านบาท มาตรการแคมเปญสินเชื่อบุคคล 4 โครงการ วงเงิน 800 ล้านบาท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โครงการสินเชื่อเพิ่มสุขสำหรับลูกหนี้ประวัติดี ปล่อยกู้เพิ่มรายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกันต่อราย และโครงการอื่นๆอีก 14 โครงการ และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้า บตท.โดยใช้นโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และออกมาตราการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ดึง 8 แบงก์รัฐอัดฉีดเงิน 3.43 แสนล้านบาท

Posts related