3 หน่วยงานหลัก จับมือ เซิร์น ใช้งานเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ จัดตั้งศูนย์สำรองเครือข่ายวิจัยฟิสิกส์ระดับโลกเป็นแห่งแรกในอาเซียน ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) และรองประธานกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า สวทช. ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือเซิร์น (CERN) ลงนามความร่วมมือติดตั้งและใช้งานเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ โดยร่วมดำเนินการศูนย์ระดับ 2 ซึ่งประเทศไทยถือเป็นศูนย์แรกในภูมิภาคอาเซียน ที่ทำหน้าที่สำรองข้อมูล เพื่อใช้งานในภูมิภาค ด้านดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ได้ร่วมมือในการติดตั้งและใช้งานเครือข่ายกริดคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Worldwide LHC Computing Grid หรือ WLCG โดยได้ดำเนินการร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สมาชิกเครือข่าย WLCG ซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ เครือข่าย WLCG เป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง ที่สามารถทำงานได้จริงและมีขีดความสามารถในการประมวลผลสูงอย่างยิ่ง ในด้านจำนวนหน่วยประมวลผล ความจุข้อมูล และความเร็วในการรับส่งข้อมูล สำหรับ เครือข่ายนี้ออกแบบมาเพื่อการวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคโดยเฉพาะ ประกอบด้วยศูนย์คอมพิวเตอร์หลายแห่ง โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 ระดับ คือ ศูนย์ระดับศูนย์ เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ของเซิร์น ทำหน้าที่รับข้อมูลโดยตรงจากการทดลองแล้วส่งต่อให้กับศูนย์ระดับหนึ่ง ซึ่งมีจำนวน 11แห่ง ใน 10 ประเทศ ศูนย์ระดับสองทำหน้าที่สำรองข้อมูลจากศูนย์ระดับหนึ่ง เพื่อใช้ในงานในภูมิภาคต่างๆ มีจำนวนประมาณ 140 แห่งใน 40ประเทศ และศูนย์ระดับสุดท้ายคือศูนย์ระดับสามซึ่งเป็นศูนย์สำหรับใช้งานการวิจัยในแต่ละภูมิภาค สำหรับประเทศไทยอยู่ในศูนย์ระดับสองและเป็นศูนย์แรกในภูมิภาคอาเซียน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ตั้งไทยเป็นศูนย์สำรองเครือข่ายวิจัยเซิร์นแห่งแรกในอาเซียน

Posts related