กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สร้างความเศร้าสลดเสียใจแก่คนไทยทั้งประเทศ กับเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญข่มขืนเด็กหญิงบนขบวนรถไฟ แม้ต้นเหตุเรื่องนี้เกิดจากความโหดร้ายของตัวบุคคล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลว และปัญหาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่หมักหมมมานานหลายปี ขาดแคลนบุคลากรทั้งปริมาณ-คุณภาพ หากไล่เรียงย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าการรถไฟไทยมีความบกพร่องหลายด้านจนนำมาสู่การเกิดเหตุเศร้าสลด เริ่มจากปัญหาบุคลากรที่เป็นเรื่องใหญ่สุดของ รฟท. ต้องยอมรับว่า องค์กรม้าเหล็กไทย กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณอย่างหนัก โดยในปัจจุบัน รฟท. มีการขาดแคลนพนักงานมากกว่า 8,000 ตำแหน่ง โดยปัจจุบันเหลือเพียง 11,000 คน  หลังจากรัฐบาลในอดีตมีนโยบายจำกัดกำลังคนและกำหนดให้การรถไฟฯ รับพนักงานใหม่ได้เพียง 5% ของพนักงานที่ออกหรือเกษียณไปเท่านั้น ส่งผลให้จำนวนพนักงาน รฟท.ร่อยหรอลงเรื่อย ๆ ดังนั้น รฟท.จึงแก้ปัญหาด้วยการจ้างลูกจ้างเฉพาะงานมาทำแทนในหลายหน้าที่ ทั้งพนักงานคุมประแจ เสมียนสถานี หรือแม้กระทั่งพนักงานปูเตียง การว่าจ้างลูกจ้างเข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะงานรถไฟเป็นงานหนัก มีสวัสดิการและฐานเงินเดือนต่ำ บางตำแหน่งเริ่มต้นเพียงเดือนละ 6,750 บาท หรือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่านั้น อีกทั้งชีวิตต้องอยู่บนรถไฟยาวนาน ห่างไกลจากแสงสี ทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจขณะที่พนักงานเดิมที่เป็นคนของการรถไฟฯ จริง ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่าอายุไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ส่งผลให้ รฟท.ขาดคนทำงานวัยหนุ่มสาวเข้ามาผลักดันองค์กร นอกจากนี้พนักงานส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาน้อยกว่าหน่วยราชการอื่น หรือเฉลี่ยเพียงแค่ ปวช., ปวส. อย่างไรก็ตามแม้ระดับการศึกษาจะไม่ใช่ตัวชี้วัดผลการทำงานว่าใครดีหรือไม่ดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้การรถไฟฯ เสียโอกาสคัดสรรพนักงานที่ดีมีความรู้ความสามารถไป  ระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก ปัญหาการรับสมัครพนักงานรถไฟ ยังมีวิธีทำกันแบบไทย ๆ หรือใช้ระบบอุปถัมภ์ อีกทั้งการคัดเลือกพนักงานรถไฟ ยังให้สิทธิระดับฝ่ายหรือสำนักงานสามารถรับสมัคร และคัดเลือกพนักงานเข้ามาได้เองโดยไม่ต้องผ่านคัดเลือกจากส่วนกลางอีก ทำให้ที่ผ่านมาการคัดเลือกจึงมีการเล่นพวกพ้อง หรือมีการอะลุ้มอล่วยช่วยเหลือกันแบบครอบครัว   ที่ร้ายกว่านั้นยังมีช่องโหว่ในการคัดกรองคุณสมบัติและประวัติ อย่างกรณีจำเลยคดีโหด นายวันชัย แสงขาว ที่เคยมีประวัติอาชญากรรม ทั้งการเสพยาและค้ายามาก่อน แต่ยังเล็ดลอดการตรวจสอบเข้ามาเป็นพนักงานรถไฟ และทำงานมาได้หลายปี ทั้งที่ยังไม่ได้รับรองประวัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงน่าสงสัยว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและน่าเป็นห่วงว่าจะมีพนักงานรถไฟคนอื่น นอกเหนือนายวันชัยที่เล็ดลอดจากการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมแบบนี้อีกหรือไม่   ประเด็นเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในเรื่องของบุคลากรของรถไฟอย่างชัดเจน  เครื่องไม้เครื่องมือล้าสมัย อีกประเด็นที่เพิกเฉยไม่ได้กับเหตุคดีนี้ คือปัญหาความทรุดโทรมของอุปกรณ์ หัวรถจักร และตู้โดยสาร เพราะอย่างที่ทราบกันอยู่ว่า รฟท.เป็นองค์กรที่ล้าหลัง ขาดการลงทุนพัฒนาครั้งใหญ่มานาน ทำให้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย หัวรถจักรบางหัวใช้มานานกว่า 30-50 ปี หรือเกินกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ จนทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความปลอดภัย อย่างเช่นคดีฆ่าข่มขืนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขบวนรถที่เป็นรุ่นเก่า ไม่มีระบบไฟ ต้องอาศัยต่อพ่วงจากขบวนอื่น จึงทำให้คนร้ายสับคัตเอาต์เพื่อดับไฟได้ ประกอบกับเป็นตู้นอนแบบพัดลม ต้องเปิดหน้าต่างนอน จึงมีเสียงดังจากข้างนอก ทั้งเสียงเครื่องยนต์ เสียงล้อ และเสียงลมรบกวน  ดังนั้นจึงไม่มีใครได้ยินเสียงผิดปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หากรถไฟมีการพัฒนาตัวรถให้ทันสมัย มีระบบรักษาความปลอดภัย ระบบไฟฟ้าภายในตู้รถ เป็นรถปรับอากาศ หรือกล้องวงจรปิด คอยระแวดระวังแล้วจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ทำให้คนร้ายเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิดหรือไม่ สารพัดปัญหารอเวลาสะสาง จากเหตุการณ์เหล่านี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงการรถไฟฯ อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนต้องกลายเป็นเหยื่อเคราะห์ร้ายของรถไฟ และที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นแล้วหลายหน ไม่ว่าเป็นเหตุข่มขืนนักศึกษาสาวปริญญาโทบนตู้รถนอนเมื่อปี 2544 หรือหญิงสาวพัทลุงที่ถูกเตียงเหล็กหล่นทับบาดเจ็บเมื่อปี 2555  แม้ล่าสุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีคำสั่งปลด นายประภัสร์ จงสงวน พ้นผู้ว่าการ รฟท. ไปแล้ว แต่ก็เป็นแค่การลดแรงกดดันจากสังคมชั่วคราวเท่านั้น แต่ปัญหาที่แท้จริงของการรถไฟฯ ยังซุกใต้พรมรอให้ คสช. และรัฐบาลใหม่แก้อยู่อีกมาก เพราะต้องไม่ลืมว่าปัญหาของการรถไฟฯ ไม่ได้มีแค่ปัญหาด้านความปลอดภัยจากเหตุข่มขืนเท่านั้น ยังมีปัญหาอื่น ๆ ซ่อนรออยู่อีก ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในการเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ การใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟฯที่ขาดประสิทธิภาพ การไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ให้ รฟท.ไปกู้แทน จนต้องมีหนี้สะสมกว่า 140,000 ล้านบาท ส่งผลปัญหาลูกโซ่อื่น ๆ ตามมาใน ระยะยาว  นอกจากนี้ยังมีปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ที่ยังล่าช้าไม่มีหัวรถจักร ขบวนรถ เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเพียงพอ จนเกิดเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการมากมาย ทั้งเรื่องความสะอาด ความล่าช้า ไม่ตรงต่อเวลา ความปลอดภัย หรืออุบัติเหตุจากการตกราง ตลอดจนการแก้ปัญหาเส้นสายระบบอุปถัมภ์ ปัญหาเชิงโครงสร้างบริหารภายใน ที่มีการกระจายอำนาจจนขาดเอกภาพในองค์กร รวมถึงการปรับทัศนคติพนักงานให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการนำรถไฟไทยก้าวไปสู่ยุคใหม่ และล้างวัฒนธรรมเดิม ๆ ให้หมดไป ถึงเวลายกเครื่องใหญ่ รฟท. ดังนั้นท่ามกลางวิกฤติและหยดน้ำตาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ น่าจะเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาจับเข่าคุยช่วยกันปฏิรูป รฟท. อย่างจริงจัง เพราะลำพังการออกกฎสั่งห้ามดื่ม ห้ามขายแอลกอฮอล์ในขบวนรถ การทำตู้นอนพิเศษสำหรับเด็กและสตรี หรือการเข้มงวดกวดขันสารเสพติด ประวัติอาชญากรรมคงไม่เพียงพอ เพราะต่อไปหากเรื่องเงียบ ก็เหมือนไฟไหม้ฟาง ปัญหาก็อาจวนกลับมาเกิดใหม่ได้อีก การปฏิรูปการรถไฟควรเป็นวาระแห่งชาติ เพราะไม่ใช่แค่ผลดีตกอยู่กับองค์กร รฟท. อย่างเดียว ยังส่งผลดีด้านอื่น ๆ ตามมา ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก มีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาจราจร ประหยัดน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว. ทีมเศรษฐกิจ เร่งยกเครื่อง เรียกคืนศักดิ์ศรี รฟท.นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องดึงการมีส่วนร่วมจากทุก ๆ ภาคส่วน เข้ามาเปลี่ยนแปลงแก้ปัญหาการรถไฟฯ ในทุกด้าน โดยจะมีการหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นำผลศึกษาการปฏิรูปการรถไฟที่มีอยู่แล้ว มาพิจารณาใหม่ว่าสามารถปรับปรุงใช้ในตอนนี้ได้อย่างไร รวมถึงจะมีการเปิดเวทีสัมมนาให้พนักงานของรถไฟเข้ามาช่วยระดมความคิด เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กร เพื่อนำข้อสรุปไปเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบด้วย ’เพราะเห็นว่าตอนนี้เราควรจะใช้วิกฤติที่เกิดขึ้นเปลี่ยนให้เป็นโอกาส ซึ่งคนรถไฟควรจะใช้จังหวะนี้รวมพลัง ปลุกเร้า เรียกคืนศักดิ์ศรีของคนรถไฟกลับคืนมา โดยเชื่อว่าคนรถไฟแต่ละคนก็รักและอยากเห็นองค์กรไปในทางที่ดี หากนำความตั้งใจมาหล่อหลอมรวมกัน เพื่อเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง มั่นใจว่า รฟท. มีโอกาสจะกลับเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง” สำหรับปัญหาของรถไฟในตอนนี้ ยอมรับว่ามีความซับซ้อนแต่ก็ยังมีโอกาสแก้ไขได้ อย่างปัญหาขาดทุนสะสมแม้มีสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท แต่การรถไฟฯ ก็มีทรัพย์สินที่ดินถึง 200,000-300,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าหนี้จึงถือว่าเป็นองค์กรที่มีศักยภาพอยู่ โดยเฉพาะที่ดินที่ยังทำรายได้น้อยเกินไป หากบริหารให้ดีจะเพิ่มรายได้ขึ้นอีก แต่ก็น่าเห็นใจ รฟท. เช่นกันเพราะเรื่องนี้ เป็นข้อจำกัดจากระเบียบกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้ รฟท. ต้องกู้เงินมาใช้หมุนเวียนจนกลายเป็นหนี้สะสม ซึ่งต่างจากหน่วยงานอื่น เช่น การปรับปรุงถนนที่รัฐมีงบประมาณรายปีให้เปล่าไปใช้ได้เลยไม่ต้องกู้ นอกจากนี้การรถไฟฯ ก็ยังไม่ได้ขึ้นค่าโดยสารมานานแล้วถึง 28 ปีด้วย ส่วนปัญหาเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย การไม่ตรงต่อเวลา ตอนนี้ก็มีการทยอยปรับปรุงรางไปทั่วประเทศแล้ว ดังนั้นจึงเหลือเพียงแค่จัดซื้อหัวรถจักร ตู้โดยสารไปแทนที่ของเก่าที่ใช้มานาน 30-50 ปี ซึ่งตอนนี้กำลังพิจารณาให้เกิดความรอบคอบอยู่ รวมถึงปัญหาด้านอื่นจะต้องเข้าไปดูทั้งหมด และกำหนดตัวชี้วัด เจ้าภาพสำหรับแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ให้เกิดความโปร่งใส และต้องขจัดระบบอุปถัมภ์เล่นพรรคเล่นพวกให้หมดไป.  แนะตั้งเรคกูเลเตอร์ระบบราง แก้ปัญหาระยะยาว นายรัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถาบันแห่งความเป็นเลิศ ด้านนวัตกรรมถนน และระบบราง คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การพัฒนาการขนส่งระบบรางที่ผ่านมา ไม่ใช่ล้มเหลวแค่ในส่วนของการรถไฟฯ แต่ยังรวมถึงการพัฒนาระบบรางของทั้งประเทศด้วย เห็นได้จากสถิติการใช้การขนส่งทางรางลดน้อยลงเรื่อย ๆ รวมถึงยังเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย อุบัติเหตุตามมาอีกบ่อยครั้ง ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหา ควรให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมา เป็นเรคกูเลเตอร์ ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบการขนส่งทางรางทั้งหมด ทั้งความปลอดภัย ความรวดเร็ว มาตรฐานพนักงาน ตัวรถ คนขับให้เป็นที่ยอมรับ  เพราะอย่างตอนนี้ รฟท. ซึ่งเป็นผู้เดินรถก็มีตั้งมาตรฐาน ตรวจสอบกันเอง ทำให้เวลาตรวจสอบยังไม่ค่อยเข้มข้นเหมือนกับที่มีหน่วยงานกลางจากรัฐเข้ามา ดังนั้นภาครัฐควรแยกให้การรถไฟฯ ทำหน้าที่เฉพาะเดินรถ ขณะที่เรคกูเลเตอร์ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ หากพบสิ่งไหนของ รฟท. มีปัญหาเรื่องราง หัวรถจักร หรือพนักงานก็สั่งให้แก้ไข ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องหยุดให้บริการ จะมาอ้างว่าคนน้อยและหย่อนยานมาตรฐานบริการไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยของประชาชน ’หน่วยงานใหม่จะเป็นเรคกูเลเตอร์ของระบบรางทั้งหมดทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รวมถึงรถไฟความเร็วสูง หน้าที่คล้ายกับกรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบก ที่คอยกำกับดูแลการขนส่งทางถนน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานนี้ ขณะที่ประเทศอื่นมีกันหมดแล้ว และอนาคตเมื่อประเทศไทยต้องลงทุนเป็นแสนล้านบาท เพื่อก่อสร้างรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีฝ่ายกำกับดูแลด้วย“ ส่วนการแก้ปัญหา รฟท. นั้นอยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาหารือช่วยกันอย่างจริงจัง เพราะด้วยศักยภาพของการรถไฟฯในปัจจุบันที่มีปัญหาหนี้สินเป็นแสนล้านบาท แถมยังขาดแคลนบุคลากร คงไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ จึงอยากเห็นการแก้ปัญหาการรถไฟฯ และปฏิรูประบบรางเป็นวาระแห่งชาติไปเลย จะปล่อยให้เป็นแดนสนธยาต่อไปอีกไม่ได้. 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ถึงเวลาผ่าตัดใหญ่รถไฟไทย ขจัดสารพัดปัญหาซุกใต้พรม

Posts related