มีผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิ การชุดหนึ่งของวุฒิสภาได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมระหว่างไทยกับมาเลเซียและได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลมาเลเซียได้เปลี่ยนระบบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมจาก “ระบบสัมปทาน” มาเป็น “ระบบแบ่งปันผลผลิต” ทำให้รัฐบาลมาเลเซียได้รับประโยชน์และผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อเทียบกับการบริหารจัด การทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยที่ยังใช้ “ระบบสัมปทาน” อยู่  โดยในผลการศึกษามีการยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมเปรียบเทียบกันว่าในปี พ.ศ. 2554 บริษัทปิโตรนาสซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเซียผูกขาดการทำธุรกิจปิโตร เลียมในมาเลเซียโดยเฉพาะในธุรกิจต้นน้ำซึ่งเกี่ยวกับการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในมาเลเซียรวมทั้งเป็นตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียไปทำธุรกิจปิโตรเลียมในต่างประเทศได้ส่งรายได้ให้รัฐเป็นเงิน 657,000 ล้านบาทหรือคิดเป็น 40% ของรายได้รัฐบาลมาเลเซียทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินรายได้ดังกล่าวมาอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศให้ขายถูกกว่าประเทศไทยได้ ส่วนประเทศไทยนั้นมีรายได้จากกิจการปิโตรเลียมในปี พ.ศ. 2554 เพียง 153,596 ล้านบาทคิดเป็น 9.3% ของรายได้ภาครัฐจึงทำให้รัฐต้องเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและกองทุนน้ำมันสูงจนทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันแพง ดูตัวเลขอย่างนี้ก็ทำให้รู้สึกคล้อยตามว่าทำไมเราเก็บผลประโยชน์ได้น้อยกว่ามาเลเซียมากแต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่ผลการศึกษาไม่ได้นำมาเปิดเผยก็คือมาเลเซียนั้นเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่กว่าประเทศไทย ตามตัวเลขของ BP Statistical Review of World Energy ที่เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย. มาเลเซียผลิตน้ำมันดิบได้ 570,000 บาร์เรล/วันอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลกผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 5.98 พันล้าน ลบ.ฟุต/วัน อยู่ในอันดับที่ 12 ของโลกและส่งออกก๊าซ 2.03 พันล้าน ลบ.ฟุต/วันอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก (IEA:2013 Key World Energy Statistics)  ในขณะที่ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 350,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติ 3.58 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน น้อยกว่ามาเลเซียเกือบครึ่งหนึ่งและบริโภคในประเทศหมดไม่เหลือส่งออกเลยแถมยังไม่พอใช้ ต้องนำเข้าอีกปีละ 1.4 ล้านล้านบาทแล้วจะให้เก็บรายได้จากค่าสัมปทานได้มากเหมือนมาเลเซียมันจะเป็นไปได้อย่างไร มองดูแค่นี้ก็เห็นแล้วว่าการศึกษาเปรียบเทียบนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นวิชาการอย่างแท้จริงมุ่งแต่จะจูงใจให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านพลังงานมีความเชื่อว่าผู้บริหารประเทศดำเนินนโยบายผิดพลาดที่ไม่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมาแทนระบบสัมปทาน เรื่องความเห็นว่าเราควรจะใช้ระบบใดในการแบ่งปันผลประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศนั้นผมเห็นว่าจะใช้ระบบใดก็ได้ขอให้ประเทศชาติได้ผลประโยชน์สูงสุดก็แล้วกัน แต่คำว่าผลประโยชน์สูงสุดในที่นี้ต้องควบคู่ไปกับคำว่าเป็นไปได้ด้วยนะครับ ดังนั้นการที่เราตั้งเงื่อนไขเอาไว้สูง ๆ ขอส่วนแบ่งมาก ๆ 80-90% แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจมาลงทุนเลยแล้วบอกว่านี่คือผลประโยชน์สูงสุดของประเทศก็คงจะไม่ถูกต้อง ผลประโยชน์สูงสุดหมายถึงจุดที่สมดุลระหว่างผลประโยชน์ของรัฐและผู้ลงทุนซึ่งเกิดขึ้นจากการเจรจาต่อรองและการได้มาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดนี้ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องใช้ระบบใดระบบหนึ่งเท่านั้น ความจริงแล้วในปัจจุบันได้มีการใช้ทั้งระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบรับจ้างผลิตผสมผสานกันไปที่เรียกว่า Hybrid System ดังนั้นเราจึงไม่ควรไปยึดติดกับระบบใดระบบหนึ่งมากจนเกินไปแล้วไปเอาตัวเลขที่ไม่ได้อยู่บนฐานเดียวกันมาเปรียบเทียบกัน มันก็เลยเหมือนกับการจับแพะชนแกะยังไงยังงั้นเลย!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ทำไมไทยได้รับส่วนแบ่ง จากสัมปทานปิโตรเลียม น้อยกว่าประเทศมาเลเซีย – พลังงานรอบทิศ

Posts related